เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 52
สภาพพื้นที่ของไต้หวัน 2 ใน 3 เป็นป่ามีพื้นที่ราบสำหรับทำการเกษตรเพียง 1 ส่วนเท่านั้น มะม่วงจัดเป็นผลไม้หลักชนิดหนึ่งที่ไต้หวันได้มีการพัฒนาทั้งทางด้านสายพันธุ์และการส่งออก ปัจจุบันมะม่วงไต้หวันได้มีการส่งออกไปหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ฯลฯ
ผลผลิตมะม่วงไต้หวันจะออกสู่ตลาดใน ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ของทุกปีปัจจุบัน ไต้หวันปลูกมะม่วงอยู่ 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ พันธุ์จินหวง และ พันธุ์อ้ายเหวิน (พันธุ์เออร์วิน) ปัจจุบันไต้หวันมีพื้นที่ปลูกพันธุ์จินหวงประมาณ 90,000 กว่าไร่ และพันธุ์อ้ายเหวิน ประมาณ 330,000 ไร่
ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่ามะม่วงพันธุ์จินหวงเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของไต้หวันและได้มีการนำพันธุ์มาปลูกในประเทศไทย ในหนังสือ “มะม่วงบนพื้นที่สูง” ของมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้เขียนถึงพันธุ์มะม่วงบนพื้นที่สูงที่มูลนิธิโครงการหลวงได้นำพันธุ์จากต่างประเทศหลายสายพันธุ์มาทดสอบและวิจัยเพื่อค้นหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูง และหนึ่งในหลายสายพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดี แนะนำให้ส่งเสริมปลูกเป็นพันธุ์การค้าได้คือ พันธุ์นวลคำ หรือ พันธุ์จินหวง นั่นเอง
เป็นพันธุ์ที่นำเข้าจากประเทศไต้หวัน ลักษณะผลกลมยาว ก้นผลงอนและค่อนข้างแหลม ผลมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักผลประมาณ 600-1,300 กรัมต่อผล รับประทานได้ทั้งดิบและสุก เมื่อผลแก่จัดจะมีรสชาติมัน และเมื่อผลสุกสีของผลจะมีสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวาน ต่อมาได้มีการนำมะม่วงสายพันธุ์นี้มาปลูกในสภาพพื้นที่ราบของประเทศไทยทำให้ผลผลิตแก่และเก็บเกี่ยวได้ก่อนบนพื้นที่สูงและได้มีการตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่อีกหลายชื่อ มีหลายคนบอกว่ามะม่วงพันธุ์จินหวง, พันธุ์นวลคำ, พันธุ์งามเมืองย่าและพันธุ์เขียวใหญ่ น่าจะเป็นมะม่วงสายพันธุ์เดียวกัน
คนไต้หวันเรียกมะม่วงพันธุ์เออร์วินว่า “อ้ายเหวิน” และเป็นสายพันธุ์มะม่วงที่ไต้หวันมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ถูกใจคนญี่ปุ่นและส่งออกไปขายญี่ปุ่นมากที่สุด มะม่วงสายพันธุ์นี้จัดเป็นมะม่วงที่มีผลขนาดปานกลาง น้ำหนัก 300 กรัมต่อผลโดยประมาณ รูปร่างค่อนข้างยาวรีหรือรูปไข่ ติดผลดกมาก ระยะผลดิบจะมีจุดประสีแดงบริเวณไหล่และแก้มผล ผิวผลสุกมีสีแดงประสีเลือดนก
จัดเป็นมะม่วงกินสุกเมื่อสุกเนื้อมีสีเหลืองทอง ไม่มีเสี้ยน กลิ่นไม่แรง รสชาติหวาน ความจริงแล้วมะม่วงพันธุ์เออร์วินนิยมบริโภคกันทั่วโลก เนื่องจากมะม่วงพันธุ์อ้ายเหวินจัดเป็นมะม่วงที่มีผิวบาง ดังนั้นทุกขั้นตอนในการเก็บเกี่ยวจะต้องมีความประณีตเหมือนกับขั้นตอนการส่งมะม่วงน้ำดอกไม้ของไทยไปยังตลาดต่างประเทศ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 พฤษภาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=200466&NewsType=1&Template=1