ทำเกษตรอย่างมีเป้าหมาย เกษตรกรไทยชีวิตดีขึ้น
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 52
ทำเกษตรอย่างมีเป้าหมาย เกษตรกรไทยชีวิตดีขึ้น
"อนันต์ ภู่สิทธิกุล” เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ระบุว่า ส.ป.ก.เป็นหนึ่งในหน่วยงานเจ้าภาพที่ดำเนินการจัดตั้ง นิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน มีเป้าหมายหลักคือ เพื่อสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกันภาคการเกษตรให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มศักยภาพการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทนเพื่อรองรับนโยบายสินค้า 5 ชนิด คือ ข้าว อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และ ปาล์มน้ำมัน และเพื่อรองรับเกษตรกรรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาเกษตรหรือผู้ที่สนใจจะเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรม
โครงการดังกล่าวได้กำหนดพื้นที่นำร่องในเขตปฏิรูปที่ดินไว้ 16 นิคมใน 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา นครปฐม สุพรรณบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ จังหวัดปัตตานี การพัฒนาพื้นที่ในนิคมนี้จะเน้น การพึ่งพาตนเองและอาศัยการตลาดนำการผลิตเป็นหลัก มีการส่งเสริมวิธีคิด องค์ความรู้ให้เกษตรกรสามารถจัดการกับสภาพการณ์ที่เผชิญได้อย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วยการแปรรูป การรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในการจัดการ หรือการเชื่อมโยงภาคการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าผลจากการดำเนินการทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เกษตรกรในเขตนิคมการเกษตรพืชอาหารและพลังงานทดแทนมีผลผลิตและรายได้ที่ดี สร้างความกินดีอยู่ดี เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และแนวทางการผลิตแบบยึดการตลาดเป็นหลักนี้จะทำให้ไม่เจอกับทางตัน เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการสร้างสมดุลภูมิคุ้มกันภาคการเกษตรให้แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ขณะนี้
อ้อย เป็นพืชที่มีแนวโน้มในการผลิตพลังงานทดแทนที่ใช้ผลิตน้ำมันเอทานอลได้ดีที่สุด ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาให้มีการปรับปรุงขยายพันธุ์อ้อยให้เพียงพอและเหมาะสมกับความต้องการของเกษตรกร โดยมีเป้าหมายยกระดับผลผลิตในพื้นที่เป้าหมาย 1 ล้านไร่ ให้ได้ 13 ตันต่อไร่ และเพิ่มเป็น 15 ตันต่อไร่ในปี 2555
นอกจากอ้อยแล้ว ส.ป.ก.ได้เน้นการรักษาระดับพื้นที่ปลูกพืชและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูป โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มผลผลิตต่อไร่อย่างน้อยร้อยละ 10 ดังนี้ มันสำปะหลัง ยังคงพื้นที่ปลูกที่ 7.4 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 3.7 ตันเป็น 4.7 ตัน โดยมีสัดส่วนพื้นที่เพื่อพลังงาน ร้อยละ 8.4 ของพื้นที่ปลูกหรือประมาณ 0.62 ล้านไร่ ปาล์มน้ำมัน ขยายพื้นที่ปลูกจาก 3 ล้านไร่เป็น 5.5 ล้านไร่ ในเขตนาร้าง ไร่ร้าง และพื้นที่เสื่อมโทรม โดยเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 3 ตันเป็น 3.5 ตัน มีสัดส่วนพื้นที่เพื่อพลังงาน ร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูก หรือ 1.65 ล้านไร่ เห็นได้ว่าการเพิ่มสัดส่วนการผลิต ปรับโครงสร้างการผลิตหรือการจัดการด้านต่าง ๆ อาทิ การชลประทาน การรวมกลุ่มเป็นนิคม ฯลฯ ล้วนแต่เป็นการพัฒนากลไกภาคเกษตรให้สอดรับกับความต้องการของตลาดทั้งสิ้น
ที่ จ.กำแพงเพชร มีพื้นที่นิคมฯ ใน 3 ตำบล คือ คณฑี เทพนคร และสระแก้ว เกษตรกรจำนวน 2,255 ราย พื้นที่รวม 50,000 ไร่ เกษตรกรปลูกข้าว และ อ้อย เป็นหลัก ส่วนที่ ต.คณฑี เป็นต้นแบบนำร่องที่ ส.ป.ก.ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพันธุ์อ้อย ที่สามารถส่งเข้าสู่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ง่าย ส่วนที่ อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ เน้นการปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ดี มีเกษตรกร 1,026 ราย ในพื้นที่ 30,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานจึงต้องทำการปรับปรุงดินและพัฒนาแหล่งน้ำก่อน และได้เพิ่มศักยภาพการแปรรูปข้าวโพดด้วยการสนับสนุนเครื่องสีเมล็ด เครื่องอบ-วัดความชื้น ตาชั่ง ลานตาก และเพิ่มศักยภาพเกษตรกรด้วยการฝึกอบรมหลักสูตรเพิ่มผลผลิตข้าวโพด ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเนื่องจากเกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มจากเดิม 4,250 ตัน/ปี เป็น 5,350 ตัน/ปี
พื้นที่นำร่องทั้งหมดในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นเพียงตัวอย่างให้เกษตรกรไทยได้ศึกษาว่า การทำเกษตรกรรมยังสามารถเดินต่อไปได้อย่างดี เพราะทั้งอาหารและพลังงานเป็นปัจจัยจำเป็นต่อมนุษย์ เพียงแต่ผู้ประกอบการเกษตรกรรมไทยต้องรู้จักปรับเปลี่ยนวิธีการคิด ดำเนินการจัดการให้สอดคล้องกับภาคตลาดและภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ หากทำได้การเกษตรของไทยจะก้าวไปข้างหน้า เกษตรกรไทยก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ไม่ยากเย็น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=200707&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า