เคล็ด (ไม่)ลับเกษตรกรมือใหม่ แปรรูปยางอย่างไรให้ขายได้ราคา
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 52
เคล็ด (ไม่)ลับเกษตรกรมือใหม่ แปรรูปยางอย่างไรให้ขายได้ราคา
ยางพารา แม้จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่หากการบริหารจัดการไม่ดี เกษตรกรก็อาจต้องประสบกับปัญหาความไม่คุ้มค่าในการลงทุนได้ ยิ่งโดยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่แผ่ขยายไปทั่วโลกในขณะนี้ ประกอบกับภาวะราคายางที่ตกอยู่ภายใต้ความผันผวนในช่วงก่อนหน้านั้น ยิ่งทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องคิดให้มากขึ้นถึงการจัดการว่า จะทำอย่างไรให้ขายผลผลิตให้ได้ราคาดีที่สุด และคุ้มค่าที่สุด
การแปรรูปน้ำยางสดมาเป็น “ยางแผ่นดิบ” ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่งที่ได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะนอกจากจะขายได้ราคาดีกว่าแล้ว เกษตรกรยังสามารถเก็บรักษาเอาไว้ได้นานกว่า เพื่อรอเทขายเมื่อราคายางดีขึ้นในภายหลังได้
แต่การแปรรูปก็ต้องมีมาตรฐานที่ดีพอ ไม่เช่นนั้นเกษตรกรก็อาจถูกกดราคารับซื้อได้เช่นกัน
นายสุขุม วงษ์เอก ผอ.สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การผลิตยางแผ่นของเกษตรกรในปัจจุบัน โดยเฉพาะในแหล่งปลูกยางใหม่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเกษตรกรยังไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะผลิตยางแผ่นให้มีคุณภาพดี ส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามแบบท้องถิ่นที่ชาวบ้านทำต่อ ๆ กันมา ไม่ได้ทำตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหา เช่น แผ่นยางเป็นเชื้อรามาก มีรอยแตกหรือเหนียวเยิ้มทั้งแผ่น กลายเป็นแผ่นยางที่ไม่มีคุณภาพ
ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้เกษตรกรมือใหม่ ให้ความสำคัญต่อกระบวนการผลิตที่ถูกต้องให้มากเป็นพิเศษ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ยางแผ่นที่ผลิตได้จะเป็นยางที่ด้อยคุณภาพและไม่ได้ราคา
ทั้งนี้การผลิตแผ่นยางคุณภาพดีไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องมีความพิถีพิถัน โดยมีหลักสำคัญ คือ 1.ความสะอาดของกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน อุปกรณ์ทุกชิ้นจะต้องมีการทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังการใช้งานเสมอ 2.การผสมน้ำยาง ต้องใช้น้ำและน้ำกรดให้ถูกสัดส่วน และ 3.การรีดแผ่นยางให้บางที่สุด
ลักษณะของยางแผ่นคุณภาพดีที่จะทำให้เกษตรกรขายได้ราคาสูง ควรมีคุณลักษณะดังนี้ 1.แผ่นยางสะอาด ไม่มีรอยคราบน้ำกรดหรือเหนียวเยิ้ม เมื่อยกแผ่นยางขึ้นส่องดูต้องไม่มีสิ่งสกปรกหรือจุดด่างดำเจือปนในเนื้อยาง และต้องไม่มีจุดฟองอากาศ 2.แผ่นบาง ความหนาของแผ่นเฉลี่ย 2.8-3.2 มิลลิเมตร แผ่นยางเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างเฉลี่ย 38-46 เซนติเมตร ยาว 80-90 เซนติเมตร 3.เนื้อยางแห้งใส สีของแผ่นยางสม่ำเสมอเป็นสีเดียวกันตลอดแผ่น ไม่ด่างดำ หรือมีสีคล้ำจนเกินไป 4.แผ่นยางมีลายดอกนูนเด่นชัด มีความยืดหยุ่นเมื่อดึงแผ่นยางออกดู เนื้อยางจะต้องไม่ขาดง่ายหรือเป็นรูพรุน
ส่วนมาตรฐานคุณภาพยางที่ดีสำหรับประเทศไทย มีด้วยกัน 3 ชั้น คือ
ยางแผ่นดิบคุณภาพ 1 แผ่นยางมีความสะอาด ปราศจากฟองอากาศตลอดแผ่น มีความชื้นในแผ่นไม่เกิน 3% ความยืดหยุ่นดี ลายดอกชัดเจนตลอดแผ่น หนาไม่เกิน 3 มิลลิเมตร เนื้อยางใสสีเหลืองทองหรือเหลืองอ่อน น้ำหนักเฉลี่ย 800-1,200 กรัม
ยางแผ่นดิบคุณภาพ 2 แผ่นยางดิบมีความสะอาดตลอดแผ่น หรืออาจมีสิ่งสกปรกและฟองอากาศอยู่เล็กน้อย มีความชื้นไม่เกิน 3% มีความยืดหยุ่นดี ลายดอกชัดเจน แผ่นยางหนาไม่เกิน 4 มิลลิเมตร ลักษณะสีค่อนข้างคล้ำหรืออาจมีรอยด่างดำได้บ้างเล็กน้อย น้ำหนักเฉลี่ย 800-1,200 กรัม
ยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 แผ่นยางมีความสะอาดหรืออาจมีสิ่งสกปรกและฟองอากาศ มีความชื้นไม่เกิน 5% มีความยืดหยุ่นดีและมีลายดอกชัดเจน ความหนาไม่เกิน 4 มิลลิเมตร เนื้อยางแห้ง สีคล้ำ ทึบ ไม่โปร่งแสง ขณะที่น้ำหนักเฉลี่ยต้องไม่เกิน 1,500 กรัม
สำหรับกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่ “การเก็บรวบรวมน้ำยาง” เกษตรกรต้องเช็ดถ้วยน้ำยางให้สะอาดก่อนรองรับน้ำยาง รวมทั้งถังเก็บน้ำยางต้องทำความสะอาดก่อนใช้ทุกครั้ง และต้องระวังอย่าให้มีขี้ยาง หรือใบไม้หล่นอยู่ในถัง เพราะจะทำให้ยางสกปรกจับตัวเป็นก้อนเร็ว และทำให้กรองยางยาก
นอกจากนี้ถังที่เก็บน้ำยางควรมีฝาปิด เพื่อป้องกันน้ำยางกระฉอกระหว่างนำไปยังโรงทำยางแผ่นและป้องกันสิ่งปลอมปนที่อาจตกลงไปในน้ำยางได้
การผลิตยางให้มีคุณภาพดียังมีต่อในวันอังคารหน้า โปรดติดตามตอนต่อไป หากเกษตรกรอยากผลิตยางให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด ควรทำตามคำแนะนำ เมื่อคุณภาพดี ราคาก็จะดีตามไปด้วยเช่นกัน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=200802&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า