ชูผลงานวิจัย การเพาะเลี้ยงปลากระพงขาว เล็งพัฒนาสูตรอาหารกระตุ้นการเจริญเติบโต
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 52
ชูผลงานวิจัย การเพาะเลี้ยงปลากระพงขาว เล็งพัฒนาสูตรอาหารกระตุ้นการเจริญเติบโต
ปลากะพงขาว เป็นปลาน้ำกร่อยขนาดใหญ่ สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม ปลาชนิดนี้เลี้ยงกันแพร่หลายในเขตจังหวัดชายทะเลของประเทศไทย เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว เนื้อมีรสชาติดีและมีราคา ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์ปลากะพงขาวได้เป็นจำนวนมาก เพื่อเลี้ยงในประเทศและส่งขายต่างประเทศ
ในปัจจุบันพบปลากะพงขาวแพร่กระจายอยู่ทุกจังหวัด ทั้งในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไม่ห่างออกไปจากชายฝั่งมากนัก โดยอาศัยอยู่ชุกชุมตามปากแม่น้ำลำคลองและปากทะเลสาบ อย่างไรก็ตาม ปลากะพงขาว ยังสามารถขึ้นไปอาศัยและเจริญเติบโตยังแหล่งน้ำจืดได้อีกด้วย จึงจัดเป็นปลาประเภทสองน้ำอย่างแท้จริง
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “ปลากะพงขาว” เป็นปลาน้ำกร่อยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในเขตจังหวัดชายทะเล เนื่องจากเลี้ยงง่ายและเนื้อมีรสชาติดี ส่งผลให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ทีมนักวิชาการประมงของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา กรมประมง สนใจและได้คิดค้นวิธีการ เพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวให้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น จึงได้ทำการวิจัยในหัวข้อ “การแสดงออกของยีน ในระหว่างพัฒนาการ ของลูกปลากะพงขาววัยอ่อนและในเนื้อเยื่อของปลากะพงขาวโตเต็มวัย” เพื่อหาวิธีการลดหรือหยุดการทำงานของยีนเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ และยังสามารถพัฒนาเป็นตัวชี้วัดระดับโมเลกุล สำหรับการศึกษาด้านอาหารของปลากะพงขาวที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตได้
ทางด้าน ดร.พิชญา ชัยนาค นักวิชาการประมง หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า ยีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีน ภายในเซลล์ของกล้ามเนื้อโครงร่าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของกล้ามเนื้อของสิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลัง ปัจจุบันมีการศึกษายีนดังกล่าวทั้งในมนุษย์ และสัตว์ แต่ยังมีไม่มากนัก ในกลุ่มของสัตว์น้ำการศึกษายีน ในปลากะพงขาวจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะทำให้สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของปลาได้ตามความต้องการของผู้เลี้ยง
การวิจัยการแสดงออกของยีน ได้ทำการศึกษาในระหว่างพัฒนาการของลูกปลากะพงขาววัยอ่อน และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของปลากะพงขาวโตเต็มวัยด้วยการใช้เทคนิคเฉพาะ ซึ่งผลจากการวิจัยปรากฏว่า ยีนดังกล่าวมีการแสดงออกในปลากะพงขาวตั้งแต่ลูกปลาฟักออกเป็นตัว และมีความจำเพาะตั้งแต่ปลาวัยรุ่นโดยเฉพาะที่กล้ามเนื้อข้างลำตัวของปลาโตเต็มวัยจากข้อมูลการวิจัยนี้ สามารถนำไปศึกษาความสัมพันธ์ของยีนกับการเจริญเติบโตที่ตอบสนองต่ออาหาร เพื่อนำไปพัฒนาเป็นตัวชี้วัดระดับโมเลกุลในการประเมินคุณค่าทางอาหารสำหรับปลากะพงขาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสูตรอาหารเม็ดสำเร็จรูปที่จะใช้ในการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวได้ต่อไป ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าว เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลจากเวทีการประชุมวิชาการประมง ประจำปี 2551 ซึ่งจัดโดยกรมประมง
อธิบดีกรมประมงกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับงานวิจัยที่น่าสนใจเช่นนี้ ทางกรมประมงยังมีให้ติดตามอีกมากมายในการประชุมวิชาการประมง ประจำปี 2552 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2552 ซึ่งเวทีแห่งนี้เป็นการเสริมสร้าง และพัฒนางานวิจัยด้านการประมงในสาขาต่าง ๆ ให้มีความก้าวหน้า ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตและบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่สำคัญยังได้ช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=201053&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า