เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 52
นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่พบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังในพื้นที่หลายจังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย อุบลราชธานี มุกดาหาร สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ระยอง กำแพงเพชร พิษณุโลก กาญจนบุรี และลพบุรีนั้น จากการสำรวจข้อมูลล่าสุด พบว่า การระบาดของเพลี้ยแป้งมีแนวโน้มลดลงจากเดิม โดยพบพื้นที่การระบาด จำนวน 1,417,628 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ระบาดไม่รุนแรง 767,601 ไร่ และพื้นที่ระบาดรุนแรง 650,207 ไร่ สำหรับจังหวัดที่รายงานพื้นที่การระบาดลดลง ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และพิษณุโลก
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะนำเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่มีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไปและได้รับผลกระทบจากการทำลายของเพลี้ยแป้ง ให้รีบขุดมันสำปะหลังเพื่อเก็บผลผลิตและกำจัดเพลี้ยแป้งอย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้เกษตรกรได้ทยอยขุดมันสำปะหลังเพื่อเก็บผลผลิตและทำลายต้นมันสำปะหลังในส่วนที่มีเพลี้ยแป้งติดอยู่ ทำให้การระบาดลดความรุนแรงลง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่ที่พบการระบาดได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ เร่งดำเนินการควบคุมเพลี้ยแป้งอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้คำแนะนำแก่เกษตรกรให้หมั่นสำรวจเพลี้ยแป้งในแปลงของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังอายุ 1-4 เดือน และยอดมันหงิกเป็นกระจุก ให้ถอนใส่ถุงดำมัดปากถุงตากแดดทิ้งไว้ในแปลง หรือนำไปเผา หรือฝังกลบ สำหรับมันสำปะหลังอายุ 5 - 8 เดือน ให้ตัดยอดที่หงิกเป็นกระจุกใส่ถุงดำทำลายเช่นเดียวกัน และฉีดพ่นแปลงด้วยเชื้อราบิวเวอเรีย หรือสารเคมีไทอะมิโทแซม 25%WP เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งในส่วนที่เหลืออยู่ที่ต้นมันสำปะหลัง และมันสำปะหลังที่มีอายุ 8 เดือนขึ้นไป ให้รีบเก็บผลผลิต หากพบแมลงช้างปีกใสทั้งไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัยในแปลง ควรงดการใช้สารเคมีเพื่ออนุรักษ์ให้แมลงช้างขยายพันธุ์เป็นการควบคุมเพลี้ยแป้งในพื้นที่ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 4 มิถุนายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=164330