หน้าแรก > ข่าวเกษตรประจำวัน
ถอน "13 สมุนไพร" บัญชีวัตถุอันตราย
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 52
ถอน "13 สมุนไพร" บัญชีวัตถุอันตราย
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอยกเลิกการควบคุมผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช 13 ชนิดซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำไปใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ด เทศ ดองดึง และหนอนตายหยากที่ปรากฏตาม บัญชี ข แนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2552 เป็นวัตถุอันตราย โดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในฐานะเลขานุการทำประกาศกระทรวง เพื่อนำเสนอ รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาต่อไป
“กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชดังกล่าวอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายส่งผลให้ประชาชนเกิดความตระหนกและเกิดความสับสนกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการบริโภคจึงขอยกเลิกประกาศดังกล่าว ซึ่งถ้ากระทรวงเกษตรฯ เห็นว่ามีความจำเป็นในการประกาศให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายก็จะมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนแล้วเสนอมาที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้ง”
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในการประชุมยังไม่มีการพิจารณาเกี่ยวกับประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการถอนสารซัลเฟอร์ออกจากบัญชีวัตถุอันตราย เนื่องจากศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาประกาศกระทรวงดังกล่าวซึ่งต้องรอให้ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาจึงจะมีการดำเนินการตามคำสั่งโดยที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้อุทธรณ์คำสั่งทุเลาของศาลปกครอง และได้ส่งเอกสารชี้แจงตามที่ศาลกำหนด ซึ่งเป็นการชี้แจงเชิงวิชาการว่าสารซัลเฟอร์ที่ถอนออกจากบัญชีวัตถุอันตรายไม่เป็นอันตราย และชี้แจงว่าที่ต้องประกาศให้อยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายเพราะกระทรวงเกษตรฯ ต้องการให้มีการควบคุมไม่ให้มีการใช้สารซัลเฟอร์ในภาคการเกษตร
“ขณะนี้ต้องรอว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งให้ส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมอีกหรือไม่ และรอว่าศาลปกครองจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร ถ้าศาลปกครองไม่เห็นด้วยกับการอุทธรณ์ของกระทรวงอุตสาห กรรมก็จะต้องไปต่อสู้ในคดีที่ นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระฟ้อง รมว.อุตสาหกรรมและอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยนายสมคิดเห็นว่าการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ยกเลิกสารซัลเฟอร์ออกจากบัญชีวัตถุอันตรายไม่ถูกต้อง”.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=201146&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า