เมื่อวันที่ 12 มกราคม 52
ปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ สินค้าพืชสำคัญหลายชนิดค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากตลาดมีกำลังซื้อลดลง กรมส่งเสริมการเกษตรมีเทคนิคแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ให้เตรียมความพร้อมเพื่อต่อสู้กับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไม่รู้จบ
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์สูงถึง 3.7-3.8 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีกำลังผลิตปีละประมาณ 3.6-3.7 ล้านตันเท่านั้น ทำให้ต้องมีการนำเข้าค่อนข้างมากโดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านตามโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี เจ้าพระยาและแม่น้ำโขง (ACMECs) แต่ฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศได้ออกสู่ตลาดพร้อมกันปริมาณมากทำให้โรงงานอาหารสัตว์ชะลอการรับซื้อ ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2551 ลดต่ำลงเหลือกิโลกรัมละ 6.33-6.69 บาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่มีราคา 7.19-7.28 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนเนื่องจากต้นทุนแพงขึ้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรยอมรับว่าต้นทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดก็ว่าได้ ฉะนั้นการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมพันธุ์ดีจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ ในอัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ และควรใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน เพื่อให้ตรงตามความต้องการของพืช ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าปุ๋ยเคมีได้มาก ทั้งนี้ การรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อร่วมกันจัดซื้อปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยเคมีจากบริษัทผู้จำหน่ายโดยตรง ตลอดจนการรวบรวมผลผลิตจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางหรือไซโลโดยตรงจะช่วยสร้างอำนาจต่อรองราคาที่เข้มแข็งขึ้น
"วัสดุเหลือใช้จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เช่น ซังข้าวโพด ใช้ผลิตถ่านอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านไม้ ส่วนเปลือกข้าวโพดยังใช้ทำตุ๊กตา ดอกไม้ประดิษฐ์และดอกไม้จันทน์ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างรายได้เสริมหล่อเลี้ยงครอบครัว" นายอรรถแนะนำ พร้อมย้ำว่า เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการปลูกพืชชนิดนี้ เกษตรกรสามารถปลูกพืชผสมผสาน/เลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง น่าจะเป็นทางออกที่รับมือกับปัญหาได้ไม่มากก็น้อย
ในส่วนของมันสำปะหลังนั้น อรรถระบุว่า ก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์ตลาดภายในประเทศทรงตัวเท่าปีที่ผ่านมา การใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ก็ไม่กระเตื้องขึ้น และแผนการผลิตเอทานอลยังไม่ขยายตัวตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนดไว้ ขณะที่ตลาดต่างประเทศได้ชะลอการสั่งซื้อ ทั้งมันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลัง ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังมีแนวโน้มลดลง
ปัจจุบันเกษตรกรได้เก็บเกี่ยวหัวมันสดป้อนตลาดแล้ว 25-30% ของผลผลิตทั้งประเทศที่คาดว่าจะมีผลผลิตรวมกว่า 29.152 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูกประมาณ 8.009 ล้านไร่ โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม 2552 นี้ คาดว่าจะมีหัวมันสำปะหลังสดออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาประกันรับซื้อที่กำหนดไว้ในช่วงดังกล่าว มีราคากิโลกรัมละ 1.90 บาท
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดในช่วงเวลาเดียวกันปริมาณมาก เกษตรกรควรชะลอและทยอยขุดหัวมันสำปะหลังป้อนโรงงาน และควรมีการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตด้วยการลดปริมาณดินที่ติดไปกับหัวมันสด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกตัดราคา ภายหลังเก็บเกี่ยวแล้ว เกษตรกรอาจเพิ่มมูลค่าผลผลิตโดยการแปรรูปเป็นมันเส้นสะอาด และเก็บเกี่ยวใบมันสำปะหลังนำมาตากแห้งเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยได้ ทั้งโคเนื้อ ไก่ และสุกร
ขณะเดียวกัน ในฤดูถัดไปเกษตรกรควรคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม เช่น ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ทั้งยังต้องเลือกใช้พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและโรคพืช นอกจากนี้อาจกระจายความเสี่ยงจากการปลูกเชิงเดี่ยว ปรับระบบการปลูกใหม่เป็นแบบผสมผสาน นับเป็นช่องทางที่จะช่วยลดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 12 มกราคม 2552
http://www.komchadluek.net/2009/01/12/x_agi_b001_330967.php?news_id=330967