เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 52
โครงการรับจำนำข้าวเปลือกซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลที่เข้ามาแทรก แซงราคา เพื่อพยุงราคาสินค้าที่ตกต่ำ และต้องการช่วยเหลือเกษตรกร แต่กลับพบว่าราคารับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาสูงกว่าราคาตลาด ทำให้เกษตรกรหันมาเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก
เฉพาะการจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาลปลูก 2551/2552 รัฐจ่ายเงินกับโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปีมากกว่า 66,222 ล้านบาท และมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลซึ่งทำหน้าที่เป็น "ผู้ค้าข้าว" โดยปริยาย จะประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินโครงการ รวมถึงโครงการนี้ยังเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนจึงมีการเสนอให้รัฐบาล เปลี่ยนจากระบบจำนำมาเป็นการประกันราคาแทน ล่าสุดมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา อนุมัติให้นำโครงการประกันราคาพืชผลมาใช้แทนการรับจำนำสินค้าเกษตรบางส่วน เบื้องต้นจะนำร่องโครงการประกันราคาข้าวหอมมะลิในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา และ ร้อยเอ็ด
พลันที่ ครม.มีมติ ก็นำมาซึ่งการจัดโครงการเสวนาวิชาการเรื่อง "ข้าวหอม มะลิกับการประกันราคา" เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่โรงแรมพูลแมนขอนแก่น ราชาออคิด จ.ขอนแก่น โดยเชิญนักวิชาการ โรงสี สหกรณ์การเกษตร และเกษตรกรในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้มารับฟัง วัตถุประสงค์หลักๆ ก็เพื่อทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ แม้หลายคนจะบอกว่าข้าวหอมมะลิไม่จำเป็นต้องประกันราคา เพราะราคาดีอยู่แล้วก็ตาม
เรื่องนี้ เอ็นนู ซื่อสุวรรณ รักษาการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงการประกันราคาข้าวหอมมะลิในฤดูกาลปลูก 2552/2553 นี้ว่า เบื้องต้นจะเริ่มประกันราคาข้าวหอมมะลินำร่องใน 8 จังหวัดภาคอีสาน ปริมาณข้าวจำนวน 2 แสนตัน โดยจะมีการประกาศราคาประกันก่อนฤดูกาลปลูก เพื่อให้เกษตรกรวางแผนก่อนปลูก สามารถคำนวณต้นทุน กำไร และใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ
คาดว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ จะดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จากนั้น ธ.ก.ส.จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจแปลงนาและผลการปฏิบัติตั้งแต่แรกจนได้ เมล็ดข้าวเปลือก ส่วนการประกันราคาข้าวหอม มะลิในพื้นที่นำร่อง จะมีการประกันราคาสูงกว่าราคารับจำนำประมาณตันละ 1,000-2,000 บาท ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วม มีเป้าหมายรับข้าวเข้าร่วมโครงการ 2 แสนตัน
ส่วนการประกันราคานั้น รัฐบาลแทบไม่ต้องเสียงบประมาณหากในกรณีที่ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน กล่าวคือ หากรัฐบาลประกันราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 1 หมื่นบาท หากตลาดมีราคาสูงถึงตันละ 1.2 หมื่นบาท เกษตรกรก็สามารถนำข้าวไป จำหน่ายกับโรงสีได้เลย แต่หากราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 9,000 บาท รัฐบาลก็จะจ่ายส่วนต่างแค่ 1,000 บาทเท่านั้น เกษตกรสามารถรับเงินส่วนต่างได้ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาข้าวน่า จะต่ำที่สุด เพราะเป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวและผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด ส่วนเกษตรกรรายใดเข้าร่วมโครงการประกันราคา จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการรับจำนำได้อีก
ด้าน ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันรัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่ผ่านมา ในปีหนึ่งๆ รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรเลย ไม่น้อยกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท และข้อเสียของระบบเดิมคือ เป็นการส่งเสริมให้คนทุจริตทุกระดับ ทั้งยังทำให้ตลาดกลางล่มสลายอีกด้วย
การประกันราคา หรือประกันความเสี่ยงนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงด้านราคา และลดความเสี่ยงเรื่องผลผลิตให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้การประกันราคาข้าวยังป้องกันการสวมสิทธิข้าวจาก ประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย เนื่องจากว่าในปีหน้าตามกรอบข้อตกลงของเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา อัตราภาษีจะเหลือร้อยละ 0 คาดว่าจะมีข้าวจาก ส.ป.ป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชาทะลักเข้ามาในไทย ซึ่งระบบใหม่นี้จะป้องกันการความเสี่ยงต่อการสวมสิทธิ์ ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ระบบประกันราคานี้ เกษตรกรจะต้องมีส่วนร่วมรับภาระกับรัฐบาล รวมไปถึงชาวบ้าน อบต.หรือมหาดไทยจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันการทุจริตในระบบใหม่นี้ด้วย ซึ่งในปีแรกคิดว่าคงไม่ง่ายนัก แต่ถ้าโครงการประกันราคาประสบความสำเร็จ จะเป็นเครื่องมือใหม่ที่ประกันความเสี่ยงราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ อีกต่อไป
ขณะที่ มะลิวัลย์ เย็นเสมอ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุรินทร์ จำกัด (สกต.สุรินทร์) ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวของ รัฐบาลที่ผ่านมา ได้รับความนิยมจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก แต่เมื่อพิจารณาถึงแนวนโยบายของการประกันราคาแล้ว ก็เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาการจำนำข้าวในราคาที่สูง ได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอยู่พอสมควร เมื่อมีการประกันราคาก็คาดว่าราคาข้าวจะเป็นไปตามกลไกของตลาด
สำหรับโครงการนำร่องประกันราคาข้าวหอมมะลิในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคอีสานนั้น คาดว่าเฉพาะ จ.สุรินทร์ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิกว่า 1 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดกว่า 3 ล้านไร่ คาดน่าจะมีปริมาณข้าวเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 1 แสนตัน จากเป้าหมายเบื้องต้น 2 แสนตัน
สอดคล้องกับความเห็นของนายธงชัย ธุรานุช เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอม มะลิ จ.สุรินทร์ ว่า หากราคาประกันสูงกว่าราคารับจำนำ ตนก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะนำระบบนี้มาใช้ และเชื่อว่าการประกันราคาน่าจะดีกว่าการรับจำนำ
โครงการประกันราคาข้าวหอมมะลิที่จะเริ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลผลิตปี 2552/2553 นี้ จะเป็นโครงการนำร่องที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถจำหน่ายข้าวได้ราคาผ่านช่องทางดังกล่าว ไม่บิดเบือนกลไกตลาดเสรี ซึ่งการประกันราคาข้าวเชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล รวมทั้งยังเป็นการแก้ทุจริตคอรัปชั่นโครงการรับจำนำข้าวได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 8 มิถุนายน 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090608/15961/%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%