'มะพร้าว' พืชสารพัดประโยชน์ อุดมด้วยคุณค่า
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 52
'มะพร้าว' พืชสารพัดประโยชน์ อุดมด้วยคุณค่า
มะพร้าว พืชชนิดหนึ่งที่เรารู้จักกันดี เราใช้ประโยชน์จากมะพร้าวได้หลายทาง เช่น น้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนใช้ รับประทาน เนื้อในผลแก่นำไปคั้นกะทิได้ กากที่เหลือจากคั้นกะทิยังสามารถนำไปทำอาหารสัตว์ได้ ยอดอ่อนของมะพร้าวนำมาทำอาหารได้ ใยมะพร้าวนำไปยัดฟูกหรือนำไปใช้ในการเกษตร กากมะพร้าวบดนำไปหีบหรือต้มเป็นน้ำมันมะพร้าว นำไปใช้ ในการปรุงอาหารหรือนำไปทำเครื่องสำอางก็ได้ และในปัจจุบันยังมีการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันมะพร้าวอีกด้วย กะลามะพร้าวนำไปประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ เช่น กระบวย โคมไฟ ฯลฯ ก้านใบหรือทางมะพร้าวใช้ทำไม้กวาด หรือนำไปสานเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจได้อีกมากมาย นอกจากนี้แล้วมะพร้าวยังจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ตามความเชื่อท่านบอกว่าให้ปลูกมะพร้าวไว้ทางทิศตะวันออกของบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล
สำหรับประเทศไทยปลูกมะพร้าวกันทั่วประเทศ โดยปลูกมะพร้าวมากเป็นอันดับ 6 ของโลก มีผลผลิตปีละประมาณ 1,500,000 ตัน ซึ่งจังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือชลบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และชุมพร แต่ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมมีที่จังหวัดสมุทรสาครมากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้วเป็นส่วนใหญ่
มะพร้าวถือเป็นพืชที่ปลอดสารพิษชนิดหนึ่ง เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้สารเคมีในการ ปลูกมะพร้าวน้อยมาก น้ำมะพร้าวอ่อนมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ได้แก่ แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามินซี บี 2 บี 5 และบี 6 กรด โฟลิก กรดอะมิโน และฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง มีน้ำตาลกลูโคสที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้เป็นพลังงานได้ทันทีอีกด้วย
น้ำมะพร้าวมีผลช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์หรือความจำเสื่อมในสตรีวัยทอง นอกจากนี้การดื่มน้ำมะพร้าวเป็นประจำยังสามารถช่วยสมานแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้นกว่าปกติ และไม่ทิ้งรอยแผลเป็น ในน้ำมะพร้าวมีเอสโตรเจนอยู่ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้ผิวกระชับ ยืดหยุ่นและชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย น้ำมะพร้าวยังสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์ได้ดี แถมยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขับของเสียหรือสารพิษออกจากร่างกายจึงช่วยให้ผิวพรรณผ่องใส เนื่องจากน้ำมะพร้าวมีปริมาณเกลือแร่ที่จำเป็นสูง รวมทั้งมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาความอ่อนเพลียเนื่องจากอาการท้องเสียหรือท้องร่วงได้ จึงจัดเป็น “สปอร์ต ดริ๊งค์” สามารถดื่มหลังการสูญเสียเหงื่อจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย นอกจากนี้ในประเทศไต้หวันและจีน ยังนิยมดื่มน้ำมะพร้าวเพื่อลดอาการเมาหลังการดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย
นอกจากนั้น น้ำมะพร้าวอ่อน ตามตำราแพทย์แผนไทยใช้เป็นยา มีสรรพคุณช่วยลดอาการไข้สูง ปวดหัวตัวร้อน ให้บรรเทาลงได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นยาบำรุงกำลังคนไข้ให้มีเรี่ยวแรงดีขึ้น
แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับผลผลิต เนื่องจากพื้นที่ในการผลิตลดลงอย่างมาก เพราะเกษตรกรจำนวนมากหันไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน เพราะการบริโภคมะพร้าวและการแปรรูปมะพร้าวยังไม่ค่อยกว้างขวางเท่าที่ควร อีกทั้งการใช้มะพร้าวเป็นพลังงานทางเลือกก็ยังไม่แพร่หลาย ทำให้ผลผลิตมะพร้าวตกค้างสต๊อกตาม “ล้ง” (คนกลางผู้รวบรวมมะพร้าว) ต่าง ๆ มีปริมาณสะสมมากจนเกิดปัญหาผลมะพร้าวเริ่มงอกเป็นต้น จำหน่ายไม่ได้ น้ำและเนื้อมะพร้าวที่แก่เกินต้องถูกทิ้งไปโดยเสียเปล่า ทำให้ปลูกแล้วไม่คุ้มกับต้นทุน ดังนั้นการแก้ปัญหาให้เกษตรกรที่หลาย ๆ หน่วยงานเห็นพ้องต้องกันว่าน่าจะได้ผลดีที่สุดคือ นอกจากจะต้องกระตุ้นการบริโภคมะพร้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวแล้ว ยังจำเป็นต้องส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานทั้งในระดับครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม
เป็นที่น่ายินดีที่มีเอกชนรายหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาครนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้ความร้อนและความดันสูงมาใช้ในการบรรจุและการเก็บรักษาเพื่อถนอมคุณค่าทางอาหารของน้ำมะพร้าวและน้ำสมุนไพรอื่น ๆ อีกหลายชนิดให้เก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือนโดยไม่ต้องใช้วัตถุกันเสียและได้มีการลงทุนเพื่อผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ในรูปแบบถ้วยปิดสนิทที่สะดวกและราคาไม่แพง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากในท้องถิ่นแล้ว ยังได้รับน้ำมะพร้าวใหม่ ๆ สด ๆ จากเกษตรกรชาวสวนใน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยตรงทุกวัน ซึ่ง อ.บ้านแพ้วถือว่าเป็นที่หนึ่งในหลาย ๆ แหล่งที่ปลูกมะพร้าวอ่อนที่ดีที่สุดของไทย ซึ่งทางเอกชนดังกล่าวมีการวางจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมีการวางเป็นเครื่องดื่มรับรองแบบไทย ๆ ในห้องรับรองของสายการบินหลายสาย นับเป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งที่ผนวกความสามารถเชิงพาณิชย์ของภาคเอกชนมาประสานประโยชน์ให้กับภาคเกษตรกรรมได้อย่างลงตัว และคงจะดีไม่น้อยถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและกว้างขวางยิ่งขึ้นจากภาครัฐ
น้ำมะพร้าว น่าจะเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสมกับคนไทยที่หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น นอกจากจะอร่อยสดชื่น และดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยส่งเสริมค่านิยมการกินอยู่อย่างไทย เงินทองไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ และที่สำคัญที่สุด เป็นการช่วยเพิ่มรายได้ของแรงงานไทยในท้องถิ่น และต่อลมหายใจให้กับเกษตรกรไทยชาวสวนมะพร้าวให้อยู่รอดอีกทางหนึ่งด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=201491&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า