'พลิกฟื้นไม้เศรษฐกิจ' เพิ่มสมดุลธรรมชาติแบบมีมูลค่า
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 52
'พลิกฟื้นไม้เศรษฐกิจ' เพิ่มสมดุลธรรมชาติแบบมีมูลค่า
การอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ เป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์และสร้างสมดุลของธรรมชาติ ให้เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้เกษตรกรปลูก “ไม้เศรษฐกิจ” อย่างน้อยร้อยละ 20 ของแปลงที่ดินที่ได้รับจัดสรร
นอกจากจะเป็นการใช้ที่ดินที่มีค่อนข้างจำกัดให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดแล้ว นับวันไม้ปลูกได้เจริญเติบโต ผลิดอก ออกผล ให้เกษตรกรได้เก็บกิน ใช้สอย สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและยังช่วยเสริมรายได้ในครัวเรือนด้วย
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ปี 2552-2553 นี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ ส.ป.ก. เร่งขับเคลื่อนและขยายผล “โครงการพลิกฟื้นไม้เศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดิน” โดยมุ่งรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรมองเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อสร้างความสมดุลทางธรรมชาติให้เหมาะแก่การอยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ ทั้งยังมุ่งให้เกิดประโยชน์ทางด้านการบริโภคและใช้สอยภายในครัวเรือน ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายให้ครอบครัวเกษตรกรได้
เบื้องต้นมีแผนสร้างความร่วมมือกับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน 160 ตำบล 127 อำเภอ 53 จังหวัด ให้ปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้ยืนต้น และไม้ใช้สอยในที่ดินที่ได้รับจัดสรร โดย ส.ป.ก.สนับสนุนงบประมาณ 1 ไร่ (ค่าวัสดุปลูก 1,000 บาท) เกษตรกรร่วมสมทบอีก 1 ไร่ เป้าหมายพื้นที่ปลูกกว่า 12,000 ไร่ กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 2,280 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6,720 ไร่ ภาคกลาง 1,940 ไร่ และภาคใต้ 1,060 ไร่ ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเป็นหมู่บ้านไม้เศรษฐกิจและพัฒนาจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนไม้เศรษฐกิจ เป้าหมาย 203 กลุ่ม สมาชิกจำนวน 6,000 ราย เน้นให้มีการใช้ประโยชน์และสร้างรายได้จากไม้เศรษฐกิจที่ปลูกด้วย
ไม้เศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกนั้น มีทั้งไม้อาหารเน้นเพื่อการบริโภคและก่อให้เกิด รายได้ เช่น สะตอ แคบ้าน มะขามป้อม ไม้พลังงานเน้นไม้ที่ใช้ประโยชน์ทางด้านเชื้อเพลิงเป็นหลัก อาทิ ยูคาลิปตัส สะเดา กระถินเทพา และไม้ใช้สอยเน้นไม้ที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้เพื่อการแปรรูปและต่อยอดกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ไผ่เลี้ยง ไผ่หวาน ไผ่ซาง ไผ่ตง หวาย กฤษณา ตะเคียนทอง มะฮอกกานี ยางนา จามจุรี เป็นต้น
แนวทางการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดิน แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับเกษตรกรรายแปลง เน้นให้ปลูกไม้เพื่อใช้ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริ ได้แก่ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ และปลูกเพื่อฟื้นฟูระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในที่ทำกินของตนเอง 2.ระดับหมู่บ้าน จะเร่งคัดเลือกหมู่บ้านนำร่อง ตำบลละ 1 หมู่บ้าน ๆ ละ 30-50 ราย ให้ร่วมกันปลูกไม้เศรษฐกิจ ประมาณร้อยละ 15-20 ของพื้นที่ใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่นและชุ่มชื้นให้กับหมู่บ้าน ตลอดจนพัฒนาจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนไม้เศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ และ 3.ระดับชุมชน โดย ส.ป.ก. จะร่วมกับปราชญ์เกษตรและชุมชนพัฒนาพื้นที่แนวเขตรอยต่อชุมชนกับเขตปฏิรูปที่ดินให้เป็นธนาคารอาหารชุมชน (Food Bank) เพื่อให้เกษตรกรและชุมชน ได้ใช้ประโยชน์
นางดอกพุดน้อย มั่นไสย วัย 52 ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยปลาดุกปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ 13/1 หมู่ 5 ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเข้าร่วมโครงการพลิกฟื้นไม้เศรษฐกิจฯ กล่าวว่า ก่อนที่จะหันมายึดอาชีพปลูกไผ่ ครอบครัวของตนเคยปลูกไม้ผลมาแล้วหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะขามหวาน มะขามเปรี้ยว มะม่วง และขนุน แต่มักประสบปัญหาเรื่องตลาดและราคาตกต่ำ จึงมองหาอาชีพใหม่ พบว่าปลูกไผ่น่าจะไปได้ดีจึงเร่งศึกษาเรียนรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับการปลูกไผ่อย่างจริงจัง และเริ่มปลูกไผ่เมื่อปี 2548 เนื้อที่ 2 ไร่เศษ เป็นไผ่พันธุ์สีทองปราจีนบุรี จำนวน 900 ต้น
ช่วงปีแรกสามารถเก็บหน่อบริโภค และจำหน่ายได้ ทำให้ครอบครัวมีรายได้จากการจำหน่ายหน่อไม้ และหน่อไม้แปรรูปปีละ 60,000 บาท ปี 2550 จึงขยายพื้นที่ปลูกไผ่เพิ่มขึ้นอีก 2 ไร่ จำนวน 500 ต้น เป็นไผ่ซาง โดยปลูกเพื่อขายหน่อและขายพันธุ์ และปี 2552 นี้ ได้ชักชวนเพื่อนเกษตรกรที่อยู่ใกล้เคียงให้หันมาขยายพื้นที่ปลูกไผ่เป็นไม้เศรษฐกิจและรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิก 16 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 50 ไร่ โดยสมาชิกได้ยื่นขอกู้เงินจาก ส.ป.ก. มาลงทุนปลูกไผ่ จำนวน 1 แสนบาท
ขณะนี้ทางกลุ่มฯ เตรียมแผนสนับสนุนให้สมาชิกนำลำไผ่มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า เช่น ผลิตไม้เสียบลูกชิ้น ไม้เสียบอาหาร ไม้ตะเกียบ และไม้จิ้มฟัน ป้อนตลาดที่กำลังมีความต้องการสูง เศษข้อปล้องที่เหลือยังนำไปเผาเป็นถ่านขาย และใบไผ่ยังใช้เป็นปุ๋ยได้อีกด้วย ไม่ต้องพึ่งสารเคมีเลย
นับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจและ ภาครัฐควรให้การสนับสนุนส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=201596&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า