วิษณุ ศิริเสน สานต่อเพาะพันธุ์ปลา
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 52
วิษณุ ศิริเสน สานต่อเพาะพันธุ์ปลา
ชีวิตของหนุ่มวัย 22 เช่น “วิษณุ ศิริเสน” ทายาทของ น้าวินัย ศิริเสน เจ้าของฟาร์มเพาะพันธุ์ปลา และประมงอาสาของ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ดูเหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีพื้นฐานและความพร้อมของครอบครัวมารองรับ ทว่าจริง ๆ แล้ว เบื้องหลังที่ใครหลายคนอาจมองไม่เห็น วิษณุยังต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ความรัก ความสนใจ ฝึกฝนตนเองให้เป็นคนช่างสังเกต อาศัยการเรียนรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นแรงหนุนเสริมอีกทางหนึ่งด้วย
“พ่อจะใช้วิธีสอนโดยเปรียบเทียบให้เห็นกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันว่า ถ้าไม่เรียนและไม่ทำงานจะเป็นแบบไหน และถ้าเรียนอย่างเดียวเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยก็จะดีอย่างไร” วิษณุเล่าถึงคำสอนพ่อและเสริมว่า “การมีชีวิตในวัยเด็กกับผู้ใหญ่ และการเป็นคนช่างสังเกต รู้จักซักถาม ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ใหญ่อยากสอนงานให้ ทำให้ได้รับการถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาหลายอย่าง ซึ่งหมายถึงงานเพาะพันธุ์ปลาและงานทุกอย่างในฟาร์ม”
วิษณุ กล่าวว่า ความรู้ที่เขาเรียนจากพ่อตั้งแต่เรื่องการเพาะพันธุ์ การอนุบาลปลา และการตลาด วิษณุได้เรียนรู้เรื่องการติดต่อลูกค้า โฆษณา ชักชวน หรือแม้แต่การลดราคาปลาเพื่อเรียกลูกค้า บางทีต้องขายปลาตัวใหญ่ในราคาเท่ากับปลาตัวเล็กของพ่อค้ารายอื่น ถึงอย่างนั้น วิษณุบอกว่าก็ทำให้เขาสนุก เพลิดเพลินกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ เป็นไหน ๆ
“จากเมื่อก่อนที่ลูกปลาขายไม่ค่อยได้ จนบัดนี้มีลูกค้าสม่ำเสมอ ลูกค้ารายใหญ่ได้แก่โครงการของหมู่บ้าน เช่น อยู่ดีมีสุข เอสเอ็มแอล ลูกค้าประจำก็มีที่ตำบลท่าซัก ซึ่งเลี้ยงปลาดุก และแปรรูปปลาดุกร้าเป็นอาชีพ ผมมองว่าพ่อสร้างไว้แล้ว ถ้าเราไม่ทำต่อแล้วใครจะทำ”
สำหรับวิษณุ เขามีความสนใจงานในฟาร์มมาตั้งแต่เด็ก ๆ หัดเพาะพันธุ์ปลาหมอตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.3 เมื่อจบมัธยมต้น วิษณุเลือกเรียน ปวช.ในแผนกวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช ต่อมาเข้าเรียนระดับ ปวส.และขณะนี้กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในวิชาประมงที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่)
การปฏิบัติจริงทำให้วิษณุเรียนรู้ว่า ความรู้วิชาการจากมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องนำมาประยุกต์ใช้อย่างพลิกแพลงในการเลี้ยงปลาจริงด้วย เพราะการนำความรู้วิชาการมาใช้โดยลำพังโดยไม่สอบทานกับประสบการณ์การปฏิบัติจริงจะทำให้เกิดความล่าช้า บ้างก็ถึงกับเสียหาย ขาดทุน บทเรียนนี้จึงสอนให้เขารู้ว่าเกษตรกรจำเป็นต้องมีไหวพริบ ดัดแปลง ประยุกต์หลักวิชาการเข้ากับการปฏิบัติจริง จึงจะอยู่รอดได้
ทุก ๆ เสาร์-อาทิตย์ ซึ่งว่างจากการเรียน วิษณุจะกลับมาช่วยงานฟาร์มปลาของที่บ้าน เนื่องจากเห็นถึงความเป็นวิถีชีวิตที่แฝงอยู่ในกิจการครอบครัว ประกอบกับความชื่นชอบในการขยายพันธุ์ปลาและการเลี้ยงปลาเป็นทุนเดิม ฐานอาชีพของครอบครัวจึงเป็นฐานให้เขาต่อยอดในสิ่งที่รักได้ดียิ่งขึ้น
ยามว่างจากงานในฟาร์ม วิษณุยังนำปลาสวยงามที่เพาะเองไปขายภายในตลาดของชุมชน และออกหาปลาในหนองน้ำใกล้บ้านเพื่อนำมาประกอบอาหาร หากได้มากก็จะตากแห้งเป็นปลาแดดเดียว ขายได้ราคากิโลกรัมละ 200-250 บาท บางครั้งแม่ก็จะนำไปแปรรูปเป็นปลาเปรี้ยวแล้วให้เขาขับมอเตอร์ไซค์ตระเวนขายในหมู่บ้านถุงละ 10 บาท ซึ่งก็ขายดี เป็นที่รู้จักของชุมชน พลอยทำให้เขาได้รู้จักคนในชุมชนมากขึ้นด้วย
“ออกไปทอดแห หาปลาในท้องทุ่งดีกว่าขึ้นไปถนนลาดยางเพื่อเข้าเมืองมีแต่จะทำให้เสียเงิน แต่ถ้าลงทุ่งยังได้ปลามาแกงกินด้วย”
โดยผลงานจากความรักและความอุตสาหะของวิษณุทำให้ขณะที่เรียนอยู่ชั้น ปวช.ที่วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช เขาได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาค 3 ปีซ้อนจากการแข่งขันทักษะการผสมเทียมปลา โดยเฉพาะการได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการแข่งขันทักษะวิชาการขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อกท.)
วิษณุมองว่าอาชีพเพาะพันธุ์ปลาขายเป็นอาชีพที่ทำให้ได้อยู่บ้าน ไม่ต้องละถิ่น เป็นอาชีพอิสระ รายได้ดี มีคนทำน้อย และเป็นอาชีพสุจริต ทำให้เขามีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง หากรักและตั้งใจจริงก็ไม่เป็นของยากที่จะยึดอาชีพนี้เลี้ยงชีพ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=339&contentID=3595#
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า