ไทย-อาเซียนสร้างองค์กรถาวรระบบสำรองข้าว
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 52
ไทย-อาเซียนสร้างองค์กรถาวรระบบสำรองข้าว
ภาวะโลกร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน ร้อนก็ร้อนจัด ฝนตกลมกระโชกแรง ซึ่งนับวันภัยธรรมชาติเริ่มส่งผลทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สิ่งหนึ่งที่นานาประเทศต่างวิตกกังวลคือเมื่อภัยพิบัติรุนแรงอาจส่งผลกระทบให้ขาดแคลนอาหารได้ในอนาคต ดังนั้น ประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนจึงได้จัดทำโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออกขึ้น เพื่อเตรียมรับมืออาหารขาดแคลนในช่วงภัยพิบัตินั่นเองและกำลังจะขยายไปสู่การจัดตั้งเป็นองค์กรถาวรในเร็ว ๆ นี้
นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานและจัดตั้งโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออก (East Asia Emergency Rice Reserve : EAERR) ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ +3 คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวมเป็น 13 ประเทศ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อศึกษากลไกระบบสำรองข้าวของประเทศอาเซียน +3 ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน แก้ไขปัญหาขาดแคลนอาหารและความยากจน และเพิ่มเสถียรภาพราคาข้าวของประเทศสมาชิกทั้ง 13 ประเทศ
โดยโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 มีรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนงบประมาณ รูปแบบสำรองข้าวของโครงการมี 2 ระบบ คือสำรองในรูปสัญญา Earmarked reserve โดยแต่ละประเทศจะประกาศโควตาสำรองข้าวไว้ใช้ยามฉุกเฉินจำนวนหนึ่ง รวมข้าวสำรองของประเทศสมาชิกทั้งสิ้น 87,000 เมตริกตัน เช่น ไทยประกาศสำรองไว้ 15,000 เมตริกตัน เมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินจะนำออกมาขายในราคาพิเศษให้กับประเทศสมาชิกที่ประสบภัยทันที ส่วนระบบที่ 2 เป็นการสำรองในรูปข้าว Stock piled reserve ที่จะต้องมีสต๊อกข้าวอยู่จริงซึ่ง ได้จากการบริจาค เพื่อใช้ยามเกิดภัยพิบัติหรือบรรเทาความยากจน ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาโครงการได้นำสต๊อกข้าวที่ประเทศสมาชิก บริจาคให้มานำไปช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประสบภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างล่าสุดคือที่ประเทศพม่าประสบภัยพายุนาร์กีส
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา ทั่วโลกประสบปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการนำพืชอาหารมาเป็นพืชพลังงานจำนวนมาก ขณะเดียวกันเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อพืชอาหาร โดยเฉพาะสต๊อกข้าวในภาพรวมของโลกลดลงอย่างมาก นานาประเทศหวั่นวิตกว่าจะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกในอนาคต ประเทศสมาชิกอาเซียน +3 ก็กังวลจึงได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายครั้ง ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยให้มีการจัดตั้งโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออก เป็นองค์กรถาวรภายใต้ชื่อ APTERR (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve Agreement) เพื่อให้การดำเนินงานมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น
“การจัดตั้งองค์กรถาวรของระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออก โดยประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแล ซึ่งทำให้ไทยได้ประโยชน์มากมาย อาทิ ประเทศไทยจะได้เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านอาหารโดยเฉพาะข้าว ครองความเป็นเจ้าตลาดข้าวในภูมิภาคอาเซียนและในตลาดโลก สามารถควบคุมการซื้อขายรวมถึงระบายสต๊อกข้าวของภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยจะเป็นผู้ควบคุมงบประมาณในการดำเนินการ ที่สำคัญเราจะทราบข้อมูลการผลิตข้าวของภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด นอกเหนือจากนี้ เราสามารถเผยแพร่เรื่องการบริโภคข้าวที่ถือเป็นวัฒนธรรมของคนไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกได้อีกด้วย” นายมณฑล กล่าว
หากการผลักดันให้โครงการนำร่องระบบสำรองข้าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นองค์กรถาวรได้สำเร็จ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มหาศาลจากโครงการนี้ โดยเฉพาะการได้เป็นผู้นำด้านข้อมูลข้าวในตลาดของภูมิภาคอาเซียน นับเป็นการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศคู่ค้าได้ดียิ่งขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=3594#
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า