เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 52
จากสถานการณ์การขาดแคลนไม้ทั้งในเมืองไทยและตลาดโลกทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทางออกของการแก้ปัญหาและสามารถตอบสนองความต้องการได้ คือการปลูกไม้ขึ้นเองเพื่อใช้งาน ได้มีการศึกษาและเสาะแสวงหาพันธุ์ไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตได้ดี ที่เหมาะกับภูมิประเทศและสภาพอากาศในพื้นที่มาปลูก ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องต้นไม้พันธุ์ต่างๆ ว่าเป็นไม้เศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีอนาคต ส่งเสริมให้มีการปลูกโดยผ่านสื่อต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ "ไม้ตะกู" กรมป่าไม้ โดยสำนักส่งเสริมการปลูกป่า ได้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไม้ดังกล่าว ในเว็บไซต์กรมป่าไม้ (http://www.forest.go.th/) เพื่อเป็นข้อมูลให้กับประชาชนที่จะนำไปปลูก ดังนี้
ต้นไม้ตะกู มีชื่อสามัญว่า Bur-flower Tree ส่วนชื่อท้องถิ่นในประเทศไทยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น กรองประหยัน (ยะลา) กระทุ่มหรือกระทุ่มบก (ภาคกลาง ภาคเหนือ) กว๋าง (ลาว) ตุ้มเนี่ยงและตุ้มหลวง (เหนือ) ตุ้มขี้หมู (ภาคใต้) ทุ่มพราย (ขอนแก่น) ปอแด๊ะ, เปอแด๊ะ และพรั่ง (กะเหรียง แม่ฮ่องสอน) ปาแย (มาลายู-ปัตตานี) โกหว่า (ตรัง) แคแสง (ชลบุรี จันบุรี) ตะกู (สุโขทัย) ตะโกส้ม (ชลบุรี ชัยภูมิ) ตะโกใหญ่ (ตราด)
ส่วนชื่อพฤษศาสตร์ คือ Anthocephalus chinensis Rich. ex Walp. วงศ์ Rubiaceae พบกระจายพันธุ์อยู่ในช่วงเส้นรุ้งที่ 9-27 องศาเหนือ ตั้งแต่ประเทศเนปาล ไล่ลงมาทางทิศตะวันออกจนถึงบังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลงไปถึงหมู่เกาะปาปัวนิวกินี สำหรับในประเทศไทยตะกูมีกระจายพันธุ์แทบทุกภาคของประเทศ ขึ้นได้ตั้งแต่ที่ราบริมทะเลไปจนถึงระดับความสูง 1,000 เมตร ปริมาณน้ำฝนรายปี 1,000-5,000 มิลลิเมตร โดยมักพบต้นตะกูขึ้นเป็นกลุ่มล้วนๆ ในป่าดั้งเดิมที่ถูกแผ้วถางแล้วปล่อยทิ้งร้างไว้หรือสองข้างทางรถยนต์ที่ตัดผ่านป่าที่ค่อนข้างชุ่มชื้น เช่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง
ลักษณะทั่วไปไม้ตะกูเป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 16-27 เมตร สำหรับในประเทศไทย ต้นตะกูที่โตเต็มที่ที่พบในป่าธรรมชาติ มีขนาดโตทางเส้นรอบวงเพียงอกประมาณ 280 ซม.สูงประมาณ 27 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งตั้งฉากกับลำต้น ส่วนใหญ่ลำต้นเปลาตรง มีการลิดกิ่งเองตามธรรมชาติ เปลือกมีสีเทาปนน้ำตาลค่อนข้างเรียบ เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ใบเดี่ยวเรียงตัวตรงข้ามเป็นคู่ๆ มีขนาดประมาณ 5-12X10-24 ซม. ปลายใบมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบป้าน เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบมีขนสากๆ และมีสีเข้มกว่าทางท้องใบ ดอกตะกูมีขนาดเล็กติดกันแน่นอยู่บนช่อดอกแบบ Head สีขาวปนเหลืองหรือส้ม กลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อกลมเดี่ยวหรือเป็นกระจุกไม่เกิน 2 ช่อ อยู่ตามปลายกิ่ง ผลตะกูเป็นผลเดี่ยวโดยเรียงกันแน่นเป็นก้อนกลมอยู่บนช่อดอก เรียกผลแบบนี้ว่า Fruiting Head ขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-6 ชม. ผลแก่มีสีเหลืองเข้ม ในผลหนึ่งๆ จะมีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก เมล็ดแห้งหนัก 1 กก. มีจำนวนเมล็ดประมาณ 18-26 ล้านเมล็ด
ด้านคุณภาพของเนื้อไม้ โดยตามหลักเกณฑ์การแบ่งคุณภาพเนื้อไม้ตามมาตรฐานกรมป่าไม้ ถือว่าไม้ตะกูจัดให้อยู่ในประเภทไม้เนื้อแข็งปานกลาง แต่ความทนทานตามธรรมชาติต่ำ ในด้านคุณสมบัติในการใช้งาน ทั้งการเลื่อย การใส การเจาะ และการกลึง ทำได้ค่อนข้างง่าย ส่วนการยึดเหนี่ยวตะปูมีน้อย การขัดเงาทำได้ง่ายมาก โดยเมื่อเปรียบเทียบความแข็งแรงกับไม้โตเร็วบางชนิด เช่น ยางพารา จำปาป่า กระถินเทพา และ ยูคาลิปตัส แล้ว ไม้ตะกูมีค่าความแข็งแรง ความเหนียวจากการเดาะและความแข็งต่ำที่สุด
ส่วนการใช้ประโยชน์ เหมาะที่จะใช้ทำเครื่องเรือนราคาถูก ทำไม้รองยก หรือพาเลท ไม้ประสาน กรอบและบานหน้าต่าง งานกลึงแกะสลัก ทำพื้นฝาที่ใช้งานในร่มได้ แต่ใช้ภายนอกไม่ทนทาน ทำไม้อัด ไม้บาง ก้านไม้ขีดไฟ ไฟเบอร์บอร์ด พาร์ติเคิลบอร์ด แปรงลบกระดานและรองเท้า ในท้องที่ภาคใต้นิยมใช้ทำคอกเลี้ยงสุกร การใช้ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของไม้ตะกูคือ ใช้ในการทำเยื่อกระดาษ
สำหรับลักษณะทางนิเวศวิทยาการเจริญเติบโตข้องต้นตะกูขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งดิน น้ำ อุณหภูมิ และแสงสว่าง ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นตะกู ได้แก่ดินตะกอนทับถม ที่มีผิวหน้าดินลึกและระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง ความชื้นในดินเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตของไม้ตะกู และปริมาณฝนตกประมาณ 1,500 -5,000 มิลลิเมตรต่อปี และมีความชื้นในอากาศไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อุณภูมิระหว่าง21-32 องศาเซลเซียส ส่วนอัตราการการเจริญเติบโตในระยะแรกจะเติบโตช้า ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 เมตรต่อปี ติดต่อกันไปนาน 6-8 ปี การเจริญเติบโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.3-7.6 ซม.ต่อปี
ทั้งนี้ จากการทดลองการปลูกสร้างสวนป่าไม้ตะกูของบริษัทสวนป่าไม้ขีดไฟไทย จำกัด พบว่า ปีที่ 1 ปลูกด้วยกล้าไม้สูงประมาณ 30 ซม. เติบโตได้ดี ปีที่2 จากสภาวะความแห้งแล้งของพื้นที่ไม่แสดงผลมากนัก แต่เริ่มมีหนอนกาแฟสีแดงเจาะทำลายที่ส่วนยอด พอปีที่ 3-5 ต้นตะกูไม่สามารถปรับตัวกับสภาวะอากาศที่แห้งแล้ง รวมทั้งสภาวะดินที่ไม่เหมาะสม จนถึงปีที่ 6-7 มีการทยอยตัดสางไม้ออก แต่ต้นไม้ที่เหลือแทบไม่มีความเพิ่มพูน แล้วทยอยยืนต้นตาย นอกจากนี้หากปลูกเป็นสวนป่าที่มีระยะปลูกค่อนข้างถี่มักจะมีปัญหาเรื่องโรครา และแมลงมากกว่าไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะศัตรูที่สำคัญคือ หนอนม้วนใบ หนอนผีเสื้อ และนีมาโทด จำพวก Meloidogyne sp. เกาะทำลายเรือนรากทำให้ต้นไม้ตายได้
โดยสรุปไม้ตะกูไม่เป็นไม้หวงห้ามแต่ประการใด ในส่วนของกรมป่าไม้ไม่เคยสนับสนุนให้ปลูกไม้ตะกูในเชิงพาณิชย์ แต่หากจะมีการปลูกเป็นเชิงพาณิชย์ ควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่จะปลูก ความสะดวกในการจัดหากล้าไม้และเรื่องราคากล้าไม้ ควรพิจารณาช่วงระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวซึ่งตกประมาณ 15 ปี ขึ้นไป รวมทั้งราคาขายและการตลาดที่ยังไม่ชัดเจน เนื้อไม้มีคุณภาพไม่ค่อยดีนักควรใช้เทคโนโลยีช่วยยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น เช่น การอบ การอาบน้ำยาไม้ และควรมีการปรับปรุงพันธุ์ให้ทนทานต่อโรคและแมลง รวมทั้งการคัดเลือกสายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวให้เจริญเติบโตในพื้นที่ที่แห้งแล้งได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 15 มิถุนายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=165871