เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 52
นักวิจัยฯ ชี้ “ว่านจักจั่น” เป็นแค่ราแมลง มีพิษหรือไม่ต้องศึกษาจากสปอร์รา เตือนชาวบ้านไม่ควร "บริโภค-พกติดตัว" อาจเป็นอันตราย เสี่ยงติดเชื้อราก่อโรคในคน
ว่านจักจั่นกำลังเป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังเป็นที่นิยมของนักเสี่ยงโชค ด้วยความเชื่อที่ว่า หากใครได้บูชาจะนำโชคลาภมาสู่ตัวนั้น ทำให้กระแสความต้องการว่านจักจั่นแรงขึ้นเป็นทวีคูณ ตามเว็บไซต์ต่างๆ มีการเสนอขายว่านจักจั่นกันจำนวนมาก เช่น
“…สั่งด่วนของใกล้จะหมดแล้ว ราคากันเองเริ่มต้นที่ ตัวละ 99 บาท Tel. 087- 22XXXX …”
“…รับเช่าว่านจักจั่น ราคาไม่เกิน 4,999 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพ และความสวยงาม สนใจ ติดต่อ 08265XXXXX…”
“…สนใจเช่า-บูชา ติดต่อได้ที่ 0274XXXXX คู่ละ 799 บาท ฟรีค่าจัดส่ง พร้อมคู่มือประวัติความเป็นมา วิธีบูชา จาก จ.เลย แท้ๆ ค่ะ ว่านจักจั่น (ต่อเงินต่อทอง)…”
หลากหลายข้อความโพสต์ขาย “ว่านจักจั่น” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังเป็นกระแสยอดนิยมในหมู่นักเสี่ยงโชค ที่ร่ำลือกันว่า ว่านจักจั่น เป็นพืชที่จัดอยู่ในประเภท ว่านกายสิทธิ์ชนิดหนึ่ง ต้นอยู่บนดิน ส่วนรากที่อยู่ใต้ดินนั้น กลับมีรูปร่างลักษณะเหมือนตัวจักจั่น แถมวันดีคืนดียังจะมีเสียงจักจั่นร้องดังขึ้นมาจากใต้ดินอีก เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ใครได้ครอบครองจะให้โชคลาภ เรียกเงิน เรียกทอง เมตตา แคล้วคลาด เตือนภัย
ด้วยความเชื่อว่า “ว่านจักจั่น” เป็นเครื่องรางของขลังที่สามารถบันดาลโชคลาภได้ ทำให้กระแสความนิยมว่านจักจั่นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และบางคนก็มีความเชื่อว่า ว่านจักจั่น ยังช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยการนำว่านจักจั่นมาต้มน้ำดื่ม จนต้องหามส่งโรงพยาบาลกันเป็นทิวแถว
หากมองในแง่ของวิทยาศาสตร์ “ว่านจักจั่น” อาจเป็นเพียงแค่ “เชื้อราแมลง” แห่งอาณาจักรเห็ดและรา ที่ไม่ใช่ทั้งพืชและสัตว์ อย่างที่เข้าใจกัน
“ราแมลง มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ก่อให้เกิดโรคและทำให้จักจั่นตาย เมื่อจักจั่นตาย เชื้อราก็จะแทงเส้นใยเข้าไปเจริญในตัวจักจั่น เพื่อดูดน้ำเลี้ยงเป็นอาหาร และเจริญเติบโตเป็นโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายเขาบริเวณหัว ทำหน้าที่สร้างสปอร์เพื่อแพร่เชื้อราต่อไป” ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล นักวิจัยห้องปฏิบัติการราวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) อธิบายถึง ว่านจักจั่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวบ้าน
สำหรับวงจรชีวิตของจักจั่นว่า เมื่อจักจั่นผสมพันธุ์กันแล้ว จะวางไข่ไว้บนเปลือกไม้ ก่อนล่วงลงสู่พื้นดิน และฝังตัวในระยะตัวอ่อนอยู่ใต้ดินนาน 2-17 ปี ส่วนที่เราเห็นตัวจักจั่นในช่วงฤดูร้อนที่ส่งเสียงร้องระงมอยู่บนต้นไม้นั้นเป็นเพียงเสี้ยวชีวิตสั้นๆ ของจักจั่นในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น ทั้งนี้ จักจั่นในระยะตัวอ่อนที่กำลังไต่ขึ้นมาเพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยเหนือพื้นดิน ช่วงระยะการเปลี่ยนแปลงร่างกายอาจทำให้จักจั่นอ่อนแอ ประกอบกับช่วงต้นฤดูฝน มีความชื้นสูง จึงมีโอกาสติดเชื้อราแมลงได้
ส่วนเชื้อราที่เกิดบนตัวจักจั่น เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เป็นราสายพันธุ์ คอร์ไดเซฟ โซโบลิเฟอร์รา (Cordyceps sobolifera) ก่อนหน้านี้ ในประเทศไทยเคยมีการสำรวจพบราแมลงบนตัวจักจั่นแล้วหลายชนิด และมีชนิดที่น่าสนใจ คือ คอร์ไดเซฟ นิปปอนนิกา (Cordyceps niponnica) ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศไทยพบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อปี 2544 และทีมวิจัยสามารถสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อรา ที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียด้วย
"ว่านจักจั่นที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ เรายังไม่สามารถจำแนกสายพันธุ์ของเชื้อราได้ว่าเป็นชนิดใด ตอนนี้ทำได้เพียงให้ความรู้ในแง่ของวิทยาศาสตร์ว่า ว่านจักจั่น ไม่ใช่พืช แต่เป็นราแมลง”
“ผมไม่แนะนำให้นำมาบริโภค หรือเก็บไว้ใกล้ตัว แม้ว่าเชื้อราในแมลงจะไม่ก่อโรคในคน แต่สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เนื่องจากราบนตัวจักจั่นที่ขุดขึ้นมาอาจจะยังมีชีวิตอยู่ และสร้างสปอร์ หรือ แม้ว่านำมาทำความสะอาดแล้ว อาจมีเชื้อราหลงเหลืออยู่ หรืออาจทำให้เชื้อราชนิดอื่น มาเจริญเติบโตแทน หากเป็นเชื้อราที่ก่อโรคในคนก็อาจเป็นอันตรายได้” ดร.สายัณห์ เตือน
จังหวะเดียวกันนี้...เพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัดว่า ราบนตัวจักจั่นเป็นราชนิดใดกันแน่ รังสิมา ตัณฑเลขา ผู้จัดการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) ลงทุนสั่งซื้อว่านจักจั่นผ่านเว็บไซต์แห่งหนึ่ง จำนวน 5 คู่ คู่ละ 199 บาท แต่เมื่อเปิดกล่องพัสดุออกมาต้องตะลึงมึน เมื่อพบ ว่านจักจั่น ถูกเพิ่มมูลค่าเสียแล้ว ด้วยการเคลือบตัวด้วยกากเพชรสีเงินและสีทองระยิบระยับ จะนำมาวิจัยซากก็ทำได้ลำบาก และเท่าที่สำรวจเห็นก็ยังเป็นเพียงเชื้อราที่ยังอ่อน ยังไม่สร้างสปอร์ จึงยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็น เชื้อราสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดพิษ เหมือนกรณีการเกิดเห็ดพิษหรือไม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 16 มิถุนายน 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090616/17193/เตือน“ว่านจักจั่น”อันตรายเสี่ยงติดเชื้อรา.html