เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 52
แม้ปัญหาวิกฤติผลไม้ของภาคตะวันออกในปีนี้จะรุนแรงถึงขั้นปิดถนนประท้วงเหมือนเช่นทุกๆ ปีที่ผ่านมา ทว่ายังไม่มั่นใจ 100% ว่าจะไม่มีปัญหาดังกล่าว เนื่องจากผลผลิตผลไม้ของปีนี้ บางชนิดยังออกสู่ตลาดไม่ถึง 20% ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเงาะ ซึ่งอยู่ในข่ายน่าเป็นห่วงที่สุด
เห็นได้จากตัวเลขของศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปัญหาผลไม้ภาคตะวันออก (War room) ที่กรมส่งเสริมการเกษตร จัดตั้งขึ้น ได้รายงานผลผลิตผลไม้ในปี 2552 ซึ่งประกอบด้วย 3 จ.ระยอง จันทบุรี และตราดนั้น ล่าสุด (8 มิ.ย.) มีตัวเลขประมาณการผลผลิตทั้งหมด 741,383 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว 507,533 ตัน คิดเป็นร้อยละ 68.46
ในจำนวนนี้แยกเป็นทุเรียน ประมาณการผลผลิต 344,507 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว 312,058 ตัน (ร้อยละ 90.58) เงาะ ประมาณการผลผลิต 225,218 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว 96,333 ตัน (ร้อยละ 42.77) มังคุด ประมาณการผลผลิต 110,616 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว 93,009 ตัน (ร้อยละ 84.08) และ ลองกอง ประมาณการผลผลิต 61,042 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว 6,133 ตัน (ร้อยละ 10.05)
"โดยภาพรวมแล้วราคาผลไม้ปีนี้ค่อนข้างดีในเกือบทุกชนิด ยกเว้นเงาะที่ยังน่าเป็นห่วง เพราะผลผลิตยังออกมาไม่ถึงครึ่ง แล้วก็เป็นไม้ผลที่เก็บไว้ได้ไม่นาน ทำให้การส่งออกค่อนข้างมีปัญหา จึงจำเป็นต้องทำตลาดในประเทศเป็นหลัก ตอนนี้ผมได้ตั้งงบประมาณไว้ 6 แสนบาท เพื่อจัดทีมไปสำรวจตลาดว่าจะมีช่องทางไหนที่พอจะระบายผลผลิตได้บ้าง"
พูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าฯ จันทบุรี เผยถึงสถานการณ์ผลไม้เมืองจันทบุรีในปีนี้ พร้อมย้ำถึงวิธีการแก้ปัญหาโดยเน้นความร่วมมือประสานงานกันอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ กรม กองต่างๆ บริษัทเอกชน ผู้ประกอบการส่งออก เครือข่ายสหกรณ์ในพื้นที่ ตลอดจนเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ไม่เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ผู้ว่าฯ คนเดิมเผยต่อว่าในปี 2552 นี้ ผลไม้ทั้ง 4 ชนิดของ จ.จันทบุรี ซึ่งได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกองนั้น มีผลผลิตรวมกว่า 5 แสนตัน สามารถส่งออกทำรายได้เข้าประเทศประมาณ 1.5 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 1 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ผลผลิตส่วนที่เหลือยังต้องพึ่งพาตลาดภายในประเทศ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายปลายทางทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ช่วยกันรับประทานผลไม้ไทยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ได้อีกทางหนึ่ง
ขณะที่ มงคลัตถ์ พุกะนัดด์ ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ผลไม้ในภาคตะวันออก ยอมรับว่าขั้นตอนการขนส่งผลไม้ไปยังตลาดต่างประเทศหรือระบบโลจิสติกส์ค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากต้องใช้ทางเรือเป็นหลักในการขนส่ง ทำให้ผลไม้บางชนิดมีปัญหา โดยเฉพาะเงาะที่มีอายุการเก็บไว้ได้ไม่นาน ในขณะที่ทุเรียนและมังคุดนั้นไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
"อย่างมังคุดเมื่อไปถึงญี่ปุ่นเขาจะขายเป็นลูก ลูกละ 50-60 บาท หรือทุเรียนก็ไม่อร่อยเหมือนบ้านเรา ไปถึงที่โน่นเนื้อทุเรียนก็เละ ไม่อร่อย เพราะกว่าจะเดินทางถึงต้องใช้เวลาเกือบอาทิตย์ ไหนต้องผ่านขั้นตอนการตรวจที่ด่านอีก ซึ่งต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นเงาะกว่าจะไปถึงผลก็ดำหมดแล้ว นี่คือปัญหา" มงคลัตถ์กล่าวถึงปัญหาขั้นตอนการส่งออกผลไม้ไทยไปยังต่างประเทศ
เช่นเดียวกับ ขวัญเมือง บำรุงพนิชถาวร ประธานชมรมสวนมังคุดร้อยปี จ.จันทบุรี ที่มองว่าการแก้ปัญหาผลไม้ในภาคตะวันออกปีนี้ดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมกันมานาน แต่บังเอิญปีนี้ผลไม้เกือบทุกชนิดให้ผลผลิตน้อยกว่าทุกปี จึงทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ ส่วนตลาดต่างประเทศก็ไม่ได้แก้ปัญหาในเรื่องราคามากนัก เนื่องจากผู้ส่งออกไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา แต่กลับเป็นผู้รับซื้อจะเป็นผู้กำหนดราคาเองทั้งหมด
"ต้องยอมรับความจริงว่า ทุกวันนี้บ้านเราไม่มีบริษัทผู้ส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศโดยตรง แต่จะเป็นผู้รับออเดอร์จากเขาแล้วจัดส่งไปให้ตามจำนวนที่สั่ง แล้วเขาก็เป็นผู้กำหนดราคามาเท่าไหร่ ก็เท่านั้น ฉะนั้นสิ่งที่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยก็คือ ต้องเข้ามาดูแลล่งให้เขาเข้มแข็ง สามารถส่งออกเองได้โดยตรงหรือถ้าเป็นไปได้ก็ต้องผ่านระบบสหกรณ์ที่ต้องดิวโดยตรงกับประเทศคู่ค้านั้นๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ทางเราจะกำหนดราคาเองได้ว่าเกรดดี ไปตลาดไหน อย่างไร เช่นถ้าเกรดดีไปญี่ปุ่น อเมริกา รองลงมาไปตลาดจีน อินเดีย แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ ผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดราคาเองทั้งหมด" ประธานชมรมสวนมังคุดร้อยปีกล่าว พร้อมย้ำว่า
ถ้ารัฐบาลพัฒนาระบบเครือข่ายสหกรณ์ให้เข้มแข็ง เสริมความแข็งเกร่งให้แก่ล่ง ซึ่งเป็นผู้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในเครือข่าย จึงมั่นใจได้ว่ารัฐบาลแก้ปัญหาได้ถูกทางแล้ว จะไม่มีปัญหาในเรื่องผลไม้ล้นตลาดและราคาตกต่ำ เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนจะเป็นผู้กำหนดเอง ทั้งในเรื่องกระบวนการผลิตและราคาจำหน่าย
"พาณิชย์" เร่งเจาะตลาดต่างแดน
พรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาผลไม้ของรัฐบาล ระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดขบวนคาราวานผลไม้เมืองจันทบุรี บริเวณจุดพักรถ ถนนมอเตอร์เวย์ (ขาเข้า) ว่า ที่ผ่านมาปัญหาที่เกษตรกรชาวสวนผลไม้มักประสบก็คือ ผลผลิตออกสู่ตลาดกระจุกตัวในช่วงสั้นๆ ปริมาณไม่สัมพันธ์กับความต้องการ ส่งผลทำให้ราคาตกต่ำ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น การกระจายไปสู่ผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรขายได้ในราคาที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประเทศชาติก็จะมีความมั่งคั่งและมั่นคง ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
"จำเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องเกษตรกรจะต้องปรับตัวและพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐานในระดับสากล ด้วยการลดการใช้สารเคมีที่เกินความจำเป็นและปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังได้สินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ที่สำคัญยังดีต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรผู้ผลิตเองด้วย" รมว.พาณิชย์กล่าวย้ำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 16 มิถุนายน 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090615/16955/ฝ่าวิกฤติผลไม้ภาคตะวันออกปี52แนะรัฐเสริมความแกร่งสหกรณ์ล่ง.html