เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 52
1ม.ค. 53 สินค้าเกษตรรายตัวจะมีภาษีนำเข้าเป็น 0% เนื่องจากการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)
เพื่อให้เกษตรกรและภาคเอกชนได้เตรียมตัวรับมือ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จึงจัดสัมมนาให้ความรู้ เรื่องกองทุนเอฟทีเอนำเกษตรไทยพ้นภัยเศรษฐกิจ
ปี"47 รัฐบาลได้มีการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ มีทุนประเดิม 540 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนปรับโครงสร้างภาคการผลิตภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เกษตรกรที่ต้องการรับความช่วยเหลือจะต้องรวมกลุ่มยื่นขอผ่านส่วนราชการ
ปัจจุบันอนุมัติไปแล้ว 11 โครงการ วงเงิน 293 ล้านบาท แยกเป็นเงินจ่ายขาด 205 ล้านบาท และเป็นเงินทุนหมุนเวียน 88 ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะต้องทยอยคืนตามระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่มีดอกเบี้ย
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเอฟทีเอ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ในส่วนของภาครัฐนั้นมีบทบาทสำคัญคือการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้า ซึ่งต้องยอมรับว่าจะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเอกชน และเสียประโยชน์ ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกร
สำหรับสินค้าเกษตรที่จะอยู่ภายใต้เอฟทีเอต้องปรับโครงสร้างการผลิต ปรับคุณภาพมาตรฐาน ขณะนี้มีสินค้าที่อยู่ระหว่างการพิจารณา คือ กาแฟ พริกไทย และสมุนไพร
รวมทั้งกองทุนจะเข้าไปช่วยเหลือสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอโดยตรง คือ มะพร้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง หม่อนไหม เป็นต้น ซึ่งสินค้าต่างๆ เหล่านี้จะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนในอนาคต หากไม่เตรียมพร้อม และปรับตัวล่วงหน้าจะส่งผลให้ผู้ผลิตเหล่านี้หายไป
ด้าน นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้ากรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในกลุ่มของผู้เสียประโยชน์ไม่เพียงแต่จะเป็นกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมหลายสินค้าที่เสียผลประโยชน์เช่นกัน
กระทรวงพาณิชย์จึงมีการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี"50 วงเงิน 240 ล้านบาท โดยพิจารณาโครงการที่มีศักยภาพเพื่อปรับโครงสร้างให้ดีขึ้นจริง มีผลงานวิจัยรองรับ ผู้ขอรับเงินช่วยเหลือจะต้องรวมตัวยื่นข้อเสนอผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันให้การช่วยเหลือไปแล้ว 19 โครง การ วงเงิน 163 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 7 โครงการวงเงิน 60 ล้านบาท ดังนั้นในปี"53 จึงเสนอของบประมาณเพื่อนำมาสมทบอีก 300 ล้านบาท
นายวีรชัย วงศ์บุญสิน ประธานคณะทำงานติดตามผลกระทบการเปิดเขตการค้าเสรี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ทุกภาคส่วนจะอยู่ได้ภายใต้เอฟทีเอที่สำคัญคือ
1.ต้องรู้ข้อมูลกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป มีการวิจัยพัฒนา สนับสนุนการรวมตัวของเกษตรกร อุตสาหกรรมในห่วงโซ่ ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และทำให้ข้อมูลข่าวสารกระจายถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว
2.ปรับมาตรฐานการผลิต โดยรัฐต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้การสนับสนุนมาเป็นผู้ดำเนินการ เกษตรกรทุกคนต้องผ่านมาตรฐานขั้นพื้นฐาน ไม่คิดว่าเงื่อนไขทางการค้าที่เกิดขึ้นเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า แต่เป็นมาตรการส่งเสริมผู้บริโภค
3.กลุ่มผู้ผลิตที่แข็งแกร่ง มีมาตรการการผลิตที่ดีอยู่แล้วจะต้องผลิตสินค้าที่สูงกว่ามาตรฐานในปัจจุบัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้น และ
4.มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเอกชนอยู่ระหว่างทำมาตรฐาน Thai GAP แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย
สรุปว่า ยิ่งปรับตัวและเตรียมมาตรการรับมือได้เร็วเท่าไร ทางรอดของเกษตรกรไทยย่อมมีมากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 18 มิถุนายน 2552
http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TURObFkyOHpNREU0TURZMU1nPT0=§ionid=TURNd05RPT0=&day=TWpBd09TMHdOaTB4T0E9PQ==