อาหรับจี้ไทยเปิดทางปลูกข้าว
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 52
อาหรับจี้ไทยเปิดทางปลูกข้าว
กลุ่มประเทศอาหรับ 6 ชาติรุกหนัก บี้กระทรวงการต่างประเทศ เปิดทางตั้งฟาร์มเลี้ยงสัตว์- ปลูกข้าว จับตารัฐรื้อแผนขายชาติดึงทุนนอกอุ้มเศรษฐกิจ เผยในรัฐบาลสมัคร เคยมีความพยายามครั้งหนึ่งแล้ว แต่ถูกต่อต้านอย่างหนัก ทั้งจากพรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชน กลุ่มเกษตรกร เนื่องจากเป็นการนำต่างชาติเข้ามาแย่งชิงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และการเกษตร ที่ควรจะถูกสงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น ขณะที่ สมาคมชาวนาไทย ค้านสุดตัว ชี้เกษตรกร 40 ล้านชีวิต ต้องกลายเป็นทาสต่างชาติ เตรียมเคลื่อนไหวต่อต้านครั้งใหญ่หากรัฐบาลอนุญาต ด้านปลัดพาณิชย์ ยัน เกษตรกรไทยเก่งอยู่แล้วไม่ต้องการต่างชาติช่วย ควรเสริมลงทุนภาคอุตสาหกรรมจะเหมาะสมกว่า
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. มีรายงานข่าวจาก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายสุรศักดิ์ เจือสุคนธ์ทิพย์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือถึง นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสอบถามกรณีกลุ่มประเทศคณะมนตรีความมั่นคงรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) 6 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์, โอมาน, สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์, บาห์เรน, คูเวต และซาอุดีอาระเบีย แสดงความสนใจที่จะเข้ามาทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และทำนาปลูกข้าวในประเทศไทย ทางกระทรวงการต่างประเทศจึงขอทราบท่าทีของกระทรวงพาณิชย์ต่อเรื่องนี้ เพื่อนำไปชี้แจงต่อประเทศที่ให้ความสนใจดังกล่าว
รายงานข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานไทยในต่างประเทศได้รับการสอบถามเกี่ยวกับนโยบายของไทยในการขอลงทุนทำการปศุสัตว์ และทำการเกษตรในไทยมาตลอด โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ ได้แสดงความสนใจในการลงทุนปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ในไทย เนื่องจากกลุ่มจีซีซีกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดวิกฤติราคาอาหารช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศ ยังได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อขอรับทราบแนวทางในการลงทุนด้วย
ก่อนหน้านี้ นายปิลัณ พานิชศุภผล กงสุลไทย (ฝ่ายพาณิชย์) กล่าวว่า กลุ่มจีซีซี สนใจลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าวในไทย แต่เรื่องนี้จะต้องใช้วิธีทำความตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล เพื่อขอเช่าที่ดินในระยะยาว หรือใช้วิธีให้คนในพื้นที่เป็นหุ้นส่วน หากเป็นการลงทุนส่วนตัว เนื่องจากประเทศไทยไม่อนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่ทั้งนี้ ไทยเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนของประเทศกลุ่มจีซีซี เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่ง
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าคนไทย เกษตรกร และผู้ประกอบการไทย มีความสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมดีอยู่แล้ว แต่บางส่วนที่ยังขาดองค์ความรู้ เทคโนโลยี เราควรสนับสนุน และให้ความสำคัญกับการทำอาชีพของคนไทยเป็นอันดับแรก โดยความสนใจลงทุนของชาวต่างชาติ ถือเป็นเรื่องดี แต่ควรให้น้ำหนักส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมมากกว่า เพราะขณะนี้มีหลายอุตสาหกรรมรอการลงทุนจากต่างชาติอยู่
ด้าน นายประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลสนับสนุนให้ชาวต่างชาติลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และปลูกข้าวในไทย เท่ากับว่าขายชาติ และทำร้ายเกษตรกรวิถีชีวิตบรรพบุรุษไทย โดยจะทำให้คนส่วนใหญ่ในชาติกว่า 40 ล้านคน ที่ทำนา ทำไร่ ปลูกผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ ได้รับความเดือดร้อน และเชื่อว่าหากรัฐผลักดันเรื่องนี้ คงถูกต่อต้านจากคนส่วนใหญ่แน่นอน และจะเกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของเกษตรกรไทย ซึ่งสมาคมชาวนาไทยมีจุดยืนแน่นอนว่า จะเดินหน้าคัดค้านถึงที่สุด
“ทุกวันนี้ชีวิตเกษตรกรไทยก็แย่พออยู่แล้ว เป็นหนี้ เป็นสิน ชักหน้าไม่ถึงหลัง หากรัฐดึงนายทุนต่างชาติเข้ามา ก็จะยิ่งซ้ำเติมให้แย่ลงไปอีก เพราะนักลงทุนมีข้อได้เปรียบในเรื่องของเงินทุน เทคโนโลยี หากปล่อยไปเช่นนี้ ชาวนาไทยคงจะล้มหายตายจากกันไปหมด เหมือนธุรกิจโชห่วย ที่ถูกกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามายึด ต่อไปเกษตรกรคงเป็นแค่ลูกจ้าง เป็นทาสของชาวต่างชาติเท่านั้น และประเทศจะขาดแคลนรายได้การส่งออกสินค้าเกษตร ขณะที่คนในประเทศมีโอกาสซื้อของใช้แพงขึ้น” นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวและว่า ทั้งนี้ทางออกที่ดี รัฐควรหาทางสนับสนุนพัฒนาเกษตรกรรมไทย ควรทำยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอย่างจริงจัง ทั้งด้านเทคโนโลยี การเพาะปลูก การตลาด การจำหน่าย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาต่างชาติ เพราะการพึ่งทุน ต่างชาติ ท้ายที่สุดกลุ่มนี้ก็ต้องนำเงินออกไปต่างประเทศอยู่ดี ตกถึงมือเกษตรกรไทยเพียงน้อยนิด
ทางด้านวงการผู้ส่งออกข้าว แจ้งว่า รัฐไม่ควรอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เพราะในส่วนการทำเกษตรกรรมไทยมีเทคโนโลยีการผลิต การทำนาสูงอยู่แล้ว เช่น ยังสามารถส่งออกเครื่องสีข้าวไปอินเดียได้ ไม่จำเป็นต้องให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เนื่องจากอาชีพกสิกรรม เป็นอาชีพดั้งเดิมของคนไทย ส่วนเรื่องการร่วมทุนก็ไม่จำเป็น เพราะผู้ประกอบการไทยมีศักย ภาพพอเช่นกัน แต่เป็นห่วงว่าขณะนี้มีทุนต่างชาติพยายามใช้สิทธินอมินีเข้ามาซื้อที่ดินทำการเกษตรกรรมเยอะขึ้น ซึ่งรัฐจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะธุรกิจกสิกรรมอยู่ในธุรกิจสงวนภาย ใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าว แม้ไทยจะเปิดให้มีการเข้ามาลงทุน ก็ไม่ใช่ง่ายที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าจะให้ประสบความสำเร็จจริง ควรให้ทำแบบเกษตรอุตสาหกรรมจึงจะคุ้มทุน และต้องมีที่ดินหมื่นไร่จึงจะคุ้มการลงทุน ซึ่งยากที่จะรวบรวมพื้นที่ให้ได้ขนาดนั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในสมัยที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน พ.ค. 2551 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ชักชวนนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย นายวาลิด อาเหม็ด จัฟฟาลี รองประธานบริษัท ซาอุดิซีเมนต์ (เอสซีซี) ซึ่งเป็นบริษัทซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในซาอุดีอาระเบีย เข้ามาลงทุน ทำนา หรือเช่าที่ดินทำนา และการส่งข้าวออกขายต่างประเทศ พร้อมทั้งได้จัดตั้งบริษัทรวมใจชาวนาขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนของนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย แต่เรื่องนี้ถูกกระแสต่อต้าน ทั้งจากพรรคการเมือง องค์กรภาคประชาชน กลุ่มเกษตรกร เนื่องจากเป็นการนำต่างชาติเข้ามาแย่งชิงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และการเกษตร ซึ่งควรจะถูกสงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=4625
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า