เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 52
วช.ชี้การวิจัย "สเต็มเซลล์" ในประเทศไทย ยังขาดมาตรฐานและความเป็นระบบที่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นจริยธรรมในการวิจัย เตือนขืนปล่อยไว้มีหวังสูญเปล่าซ้ำรอยวิจัย GMO ที่สร้างประโยชน์ให้สาธารณะไม่ได้แล้วยังถูกต่อต้านอีก แนะนักวิจัยวางเป้าให้ชัดทดลองเพื่ออะไร
ศ.ดร.อานนท์ บุณยรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวภายหลังการประชุมหารือทิศทางการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดของประเทศไทย ในหัวข้อโอกาสหรือวิกฤตการณ์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิดของประเทศไทย ถึงสถานการณ์การวิจัยเทคโนโลยีสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดในประเทศไทยขณะนี้ว่า การวิจัยด้านสเต็มเซลล์ในประเทศไทยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังเป็นการทำการวิจัยและพัฒนาสเต็มเซลล์ที่กระจัดกระจาย ไม่มีมาตรฐานของการวิจัย อีกทั้งไม่มีความชัดเจนในด้านจริยธรรมและระบบมาตรฐานของการวิจัย ดังนั้นหากประเทศไทยยังปล่อยให้ทำการวิจัยด้านสเต็มเซลล์อยู่เช่นนี้ เชื่อว่า ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤตด้านการวิจัย คือ เป็นการวิจัยที่ไม่เกิดประโยชน์การสูญเปล่าของข้อมูล หรือการวิจัยสเต็มเซลล์อาจซ้ำรอยการวิจัย GMO ก็เป็นได้ ที่นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนแล้ว ยังกลับทำให้สังคมเกิดการต่อต้านและหวาดกลัวงานวิจัยดังกล่าวในที่สุด
ศ.ดร.อานนท์ยังกล่าวอีกว่าเพื่อการวิจัยสเต็มเซลล์ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างแท้จริงนั้น ควรจัดตั้งเป้าหมายในการทำวิจัยสเต็มเซลล์อย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย ควรมีการวางนโยบายในการวิจัยที่มองว่าเกิดประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่งแก่สาธารณชนอย่างแท้จริง การทำการวิจัย ต้องก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถต่อยอดการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าและองค์ความรู้ใหม่ๆได้ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องระบุว่าผลจากการวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์แก่ประชาชนได้เช่นไรบ้าง อาทิ ใช้ในการรักษาโรค ใช้ในทางการแพทย์ และในขั้นตอนของการปฏิบัติการวิจัยควรจะมีการจัดการระบบปฏิบัติการในห้องทดลองอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 25 มิถุนายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=167483