เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 52
ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคมของทุกปี เป็นฤดูของผลผลิตลำไยที่จะออกสู่ตลาด สำหรับปีนี้คาดการณ์กันว่าลำไยจะล้นตลาด
ดังนั้น ผลผลิตในปีนี้โดยเฉพาะในเชียงใหม่-ลำพูน ต้องเร่งหาแนวทางในการป้องกันราคาตกต่ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เพื่อให้เกิดความร่วมมือทั้งด้านวิชาการและด้านการตลาด ทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) โดย คุณดำรงชัย เดชาธิคม รองผอ.ธ.ก.ส. ฝ่ายสาขา 1 และ คุณกัญจนิกข์ กำนิดเพชร รองผอ.ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้นำคณะทีมงานเข้าพบ รศ.ดร.เทพ พงษ์พานิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนักวิชาการด้านลำไย แม่โจ้
ซึ่งล่าสุด ธ.ก.ส.ได้ตั้งศูนย์วิจัยขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลด้านพืชผลเกษตรต่างๆ เพราะกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของ ธ.ก.ส.
โดย ความต้องการของ ธ.ก.ส. มี 3 เรื่องหลักๆ ที่ต้องการนำเสนอคือ 1.ขอเสนอให้มีงานวิจัยครบวงจร ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และโลจิสติกส์การตลาดลำไย 2.ควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ลำไยทั้งระยะสั้นและระยะยาว และ 3.แนวทางในการกระจายผลผลิตทั้งในประเทศและการส่งออกทั้งลำไยสดและลำไยแปรรูป
รศ. ดร.เทพ กล่าวว่า ในระยะสั้นนี้ทุกหน่วยงานองค์กรต้องช่วยกันรณรงค์สร้างกระแสบริโภคลำไย ซึ่งกำลังจะถึงฤดูในเดือนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานหรือเทศกาลต่างๆ เพื่อปลุกจิตสำนึกให้คนไทยช่วยกันบริโภคผลไม้ไทยแทนการนำเข้าผลไม้ต่าง ประเทศ โดยเฉพาะชาวเชียงใหม่-ลำพูน ต้องชี้ให้ทุกคนตระหนักว่า แหล่งลำไยที่ดีที่สุดในโลกอยู่ที่เชียงใหม่และลำพูนนี้เอง ดังนั้น จึงเป็นอัตลักษณ์ที่เราต้องช่วยกันสร้างด้วยความภาคภูมิใจ
ผศ. พาวิน มะโนชัย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านลำไย กล่าวว่า ทั้งศูนย์วิจัยลำไยแม่โจ้และสำนักวิจัยแม่โจ้มีการศึกษาและรวบรวมองค์ความ รู้ด้านลำไยเพื่อเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดพบว่า ลำไยพื้นเมืองอย่างพันธุ์เบี้ยวเขียวและพันธุ์สีชมพูซึ่งนับวันจะสูญพันธุ์ และไม่ค่อยมีคนรู้จักนั้นสามารถพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ได้ เหมือนเช่นที่ประเทศจีนทำด้วยวิธีการเปลี่ยนยอดโดยไม่ต้องตัดต้นเก่าทิ้ง หรือรอการปลูกต้นใหม่ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลานาน
ผศ.พาวิน กล่าวว่า เกษตรกรลำไยบางส่วนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้น และการทำลำไยนอกฤดูว่าจะให้ผลผลิตที่คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้วอยากให้มองภาพรวมว่า ในเชิงโครงสร้างการแก้ปัญหาลำไยล้นตลาดนั้น ต้องมีแนวทางที่หลากหลาย ประเด็นหลักคือการลดต้นทุนการผลิตและผลผลิตที่ได้ต้องมีคุณภาพ ปัจจุบันพื้นที่ปลูกลำไยในประเทศไทยมีสูงถึงประมาณ 1 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกลำไยตามฤดูกาลบางส่วนปลูกแบบลำไยอินทรีย์ ดังนั้น จึงควรมีประมาณ 10% ที่เป็นการปลูกลำไยนอกฤดู เพื่อช่วยแก้ปัญหาลำไยล้นตลาดในช่วงฤดูและปัญหาราคาตกต่ำ
"หาก ชาวสวนลำไยมองเห็นช่องว่างตรงนี้และเรียนรู้ที่จะพัฒนาเทคนิคการปลูกให้ เหมาะกับสภาพพื้นที่ ระบบการให้น้ำและการใช้สารกระตุ้นอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยให้ผลผลิตมีประสิทธิภาพขายได้ราคาดีเช่นเดียวกับกลุ่มชาวสวนลำไยที่ มาเข้าร่วมปลูกลำไยนอกฤดูกับแม่โจ้ ส่วนใหญ่พบความแตกต่างที่สร้างความพึงพอใจให้อย่างมาก"
ผลงาน วิจัยตัวอย่างล่าสุด "มิติใหม่ ลำไยระยะชิด ทรงเตี้ย" ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพในราคาต้นทุนต่ำเพราะไม่ต้องใช้ไม้ค้ำและไม่ต้องจ่าย ค่าแรงในการเก็บ ซึ่งผู้เข้าดูงานส่วนใหญ่เมื่อเห็นแปลงลำไยรุ่นใหม่แล้ว จะเห็นความแตกต่างเกี่ยวกับเทคนิคการปลูกและดูแลรักษาต้นลำไย ซึ่งควบคุมได้ราวกับเป็นหุ่นยนต์ต้นลำไย
คือมีวิธีการจัดการควบคุม คุณภาพของไม้ผลให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ อากาศและน้ำ โดยสามารถใช้เทคนิคการตัดแต่งกิ่งคือการควบคุมทรงต้นให้เหมาะกับสภาพแสงแดด และตัดแต่งช่อดอก ควบคุมความสูงของต้นไม่ให้สูงเกินไปประมาณขนาดความสูงของคน ทำให้มองเห็นช่อที่ออกดอก และใช้สารกระตุ้นที่ควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการควบคุมระบบน้ำล้วนเป็นเทคนิคที่เกษตรกรลำไยเรียนรู้และปรับใช้ได้กับพื้นที่ของตน เพื่อให้ได้ผลผลิตตามระยะเวลาและคุณภาพสูงกว่าการปลูกลำไยแบบเดิม
ผศ. พาวิน บอกว่า ความรู้เชิงเทคนิคเหล่านี้รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งมะม่วง ลิ้นจี่ เทคนิคเหล่านี้เกษตรกรชาวไทยต้องหมั่นเปิดวิสัยทัศน์รวมกลุ่มกันแลกเปลี่ยน เรียนรู้ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปปรับใช้ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีทางตามทันเกษตรของประเทศอื่นๆ ได้
รศ.ดร. ศิริพร กีรติการกุล รองผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็น "แม่โจ้โพลล์" ว่า จากการสำรวจเกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคเพื่อสะท้อนสถานการณ์ตลาดลำไย พบว่า ผู้บริโภคในภาคเหนือส่วนใหญ่กว่า 74% เห็นด้วยกับการสร้างกระแสการบริโภคลำไยเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองเหนือโดย ใช้เครือข่ายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เพื่อให้นักท่องเที่ยวช่วยเพิ่มการบริโภค และควรแปรรูปลำไยเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อให้สามารถซื้อเป็นของฝาก และเก็บไว้ได้นานด้วย
คุณดำรงชัย กล่าวว่า โดยภาพรวมแล้วเห็นว่า ปัญหาลำไยของไทยนั้นเป็นเรื่องของโลจิสติกส์ คือเราไม่สามารถกระจายผลผลิตเพื่อการจำหน่ายได้ดีเท่าที่ควร รวมถึงอุปสรรคเรื่องการส่งออก เพราะตลาดต่างประเทศถูกครอบคลุมด้วยเงื่อนไขมากมาย ดังนั้น ทางธ.ก.ส.จึงคาดหวังจากตลาดภายในประเทศ โดยมุ่งหาวิธีการตลาดช่วยเหลือชาวสวนลำไยให้ได้มากที่สุด เพราะธนาคาร ธ.ก.ส. มีสาขาในทุกจังหวัดและทุกอำเภอ เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นลูกค้าสำคัญของธ.ก.ส. และไม่เฉพาะไม้ผลลำไยเท่านั้น แต่ยังมีพืชเศรษฐกิจอื่นๆ อีกที่ธ.ก.ส.มุ่งหาข้อมูลเป็นฐานให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร
"สำหรับ ลำไยมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นแหล่งความรู้ที่มีประโยชน์ จึงเตรียมลงนามความร่วมมือทั้งด้านวิชาการและด้านการผลิตลำไยครบวงจรรวมถึง แนวทางการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ปลูกไม้ผลเศรษฐกิจของภาคเหนือ ซึ่งกำลังจะถึงฤดูลำไยในเร็วๆ นี้" รองผอ.ธ.ก.ส. ฝ่ายสาขา 1 กล่าว
ทางออกของเกษตรกรก็อยู่ที่ความรู้ใหม่ที่จะได้รับเหล่านี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 26 มิถุนายน 2552
http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROeVlXb3dNekkyTURZMU1nPT0=§ionid=TURNek1RPT0=&day=TWpBd09TMHdOaTB5Tmc9PQ==