อนาคตผ้าไหมไทย ศิลปะบนผืนผ้าสู่สายตาชาวโลก
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 52
อนาคตผ้าไหมไทย ศิลปะบนผืนผ้าสู่สายตาชาวโลก
เส้นไหมใยชีวิตถักทอเป็นผืนผ้า บ่งบอกถึงที่มาของวัฒนธรรมท้องถิ่นแดนไกล แก่ผู้ได้พบเห็น ไม่เว้นแม้แต่ฝรั่งต่างชาติที่ต้องตะลึงในความวิจิตรบรรจงของลวดลายบนผ้าไหม เมื่อคราวผ้าไหมไทยถูกนำไปโชว์ในการจัดงาน “ไหมไทยสายใยแห่งแผ่นดิน” ที่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างมาก
นายประทีป มีศิลป์ ผอ.สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า การจัดงาน “ไหมไทยสายใยแห่งแผ่นดิน” ที่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากจากชาวต่างชาติที่มาร่วมงาน ขณะเดียวกันมีหลายประเทศที่แสดงความสนใจและเชิญประเทศไทยไปจัดงานแสดงผ้าไหมไทยในประเทศต่าง ๆ อาทิ ประเทศเยอรมนี เบลเยียม และอิตาลี เนื่องจากประเทศเหล่านั้นได้เห็นถึงคุณค่า ผ้าไหมไทยที่มีความหลากหลายในลวดลายที่วิจิตรบรรจงทอลงบนผืนผ้า
นอกจากนี้ นายประทีปยังกล่าวยืนยันถึงความสำเร็จอีกด้วยว่า จากการจัดงานในครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างรายได้เข้าประเทศในอนาคต เพราะสามารถช่วยกระตุ้นตลาดส่งออกไหมไทยได้อย่างมาก เห็นได้จากภาคเอกชน 14 ราย ที่ได้เดินทางไปร่วมแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยในครั้งนี้ ได้มีการเจรจาตกลงทางการค้าหมดทุกราย โดยได้รับออร์เดอร์การสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ไหมไทยเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ไหมไทยที่นำไปแสดงยังสามารถจำหน่ายได้จำนวนมาก อาทิ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าไหมทอต่าง ๆ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ชุดผ้าไหม และผงไหม คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1 ล้านบาทเศษ รวมไปถึงภาคเอกชนของไทยที่ไปร่วมงานยังได้มีการเจรจาการค้ากับบริษัท หลุยส์ วิตตอง ในการนำผ้าไหมยกดอกลำพูน ซึ่งเป็นสินค้าที่จะนำไปใช้ทำผ้าซับในของกระเป๋าแบรนด์เนมดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าของกระเป๋ามากขึ้นและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ในขณะที่ทางสมาคมแชมเปญของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทำทวินนิ่งสินค้ากับประเทศไทย ก็จะนำผ้าไหมยกดอกลำพูนไปทำเป็นเนกไท เพื่อเป็นของพรีเมียมแจกให้กับลูกค้าที่ซื้อแชมเปญ
โดยปกติในการจัดงานที่องค์การยูเนสโก จะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ แต่เนื่องจากประเทศไทยได้รับการอนุญาต และลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ในองค์การยูเนสโกเอง เมื่อเห็นผ้าไหมไทยที่สวยงามหลากหลายที่นำไปแสดง อีกทั้งมีเครื่องหมายรับรอง ตรานกยูงพระราชทานที่เป็นตราสัญลักษณ์ สร้างความเชื่อมั่นว่าผ้าไหมไทยเป็นของมีคุณภาพอย่างแน่นอน จึงซื้อสินค้าในงานเกือบหมดทุกชิ้นที่นำไปแสดง
และนี่ถือเป็นเพียงการจุดประกายเริ่มต้นของการเผยแพร่ศักยภาพการผลิตไหมของไทย ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้พยายามสร้างความเชื่อมั่นและคุณภาพของไหมไทยไปยังประเทศอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะตลาดการส่งออกที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งล่าสุด นายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบตกลงที่จะไปจัดงานแสดงไหมไทยที่ประเทศเบลเยียม และประเทศเยอรมนีในปีหน้า แม้ว่าการจัดงานแสดงผ้าไหมที่จะมีขึ้นครั้งหน้า อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่ากับการจัดงานที่องค์การยูเนสโก แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทย จะได้แสดงการผลิตผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทยได้ไม่แพ้กัน นอกจากนี้ ในส่วนของสถานทูตไทยในกรุงปารีสก็ยังมีแผนการจัดงานแสดงไหมไทยในกรุงปารีสอีกครั้งในปีหน้าด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกิจกรรม เช่น วันที่ 18-20 มิถุนายนที่ผ่านมา สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมด้วยภาคเอกชนเดินทางไปยังประเทศแอฟริกาใต้ ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก ในการเจรจาทางธุรกิจเรื่องผ้าไหมไทย และในช่วงกลางเดือนกันยายน สถานทูตไทยที่โยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ จะจัดงาน Embassy Thai Festival โดยจะนำกิจกรรมเรื่องไหมไทยไปเป็นไฮไลต์ในงาน และนำภาคเอกชนไปร่วมด้วย
เส้นทางสายไหมของไทยจะได้รับการยอมรับหรือไม่ในอนาคต ส่วนหนึ่งก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการพัฒนาและวางแผนการผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อให้คุณค่าผ้าไหมไทยเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวต่างประเทศในต่างแดน และคงความเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่จะเป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว ซึ่งแนวทางการที่จะเดินหน้าพัฒนาไหมไทย ของสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ นั้นเรียกว่าเดินมาถูกทาง โดยมุ่งเน้นการผลิตไหมไทยให้มีคุณภาพ สร้างความเข้าใจกับเกษตรกร และผู้ผลิตในการรักษาคุณภาพผ้าไหมให้ได้มาตรฐาน
หากวันนี้ “ผ้าไหมไทย” ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ทอมือ และศิลปะ ไม่สามารถผลิตตามออร์เดอร์แบบอุตสาหกรรมได้ หรือผลิตกันอย่างไร้ทิศทาง การจะรักษาระดับการผลิตผ้าไหมไทยที่ได้มาตรฐานทั้งปริมาณและคุณภาพ ให้อยู่ในระดับที่จะสร้างอำนาจต่อรองของตลาดผ้าไหมไทยอย่างถาวรคงเป็นไปได้ยาก
ดังนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดขั้นตอนกระบวนการผลิตไหม จำเป็นต้องมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง และมีหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน เพื่อให้ผ้าไหมไทยยังคงเป็นความหวังหนึ่งที่จะนำพาชื่อเสียงและรายได้เข้าประเทศได้อย่างมั่นคงต่อไปได้ในระยะยาว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=5525
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า