เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 52
ปัญหาลำไยอบแห้งค้างสต็อกปี 2546/2547 กว่า 4.6 หมื่นตันที่ค้างคามานาน ในที่สุดคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ทำลายลำไยด้วยวงเงินไม่เกิน 90 ล้านบาท แต่ยังเป็นที่ถกเถียงว่าจะทำลายด้วยวิธีใดที่จะคุ้มค่าที่สุดและไม่เปลืองงบประมาณ ที่สำคัญต้องไม่มีการเล็ดลอดออกมาปะปนกับผลผลิตลำไยปี 2552 ที่กำลังจะออกสู่ท้องตลาดปลายเดือนกรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ ผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการและทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 ครั้งที่ 1/2552 ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูตร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นประธานคณะกรรมการ ได้สรุป 3 แนวทางในการจัดการปัญหาลำไยค้างสต็อกเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 30 มิถุนายนนี้
โดยแนวทางแรกจะเป็นการบดแล้วนำไปทำลายด้วยการฝังกลบ แนวทางที่สองเป็นการบดแล้วนำไปทำลายด้วยการเผา ซึ่งทั้ง 2 วิธีจะใช้งบประมาณในการทำลายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.67 บาท รวมกับค่าดำเนินการอีกกิโลกรัมละ 0.25 บาท เบ็ดเสร็จเชื่อว่างบประมาณที่ใช้ในการทำลายขึ้นกับปริมาณลำไยอบแห้งค้างสต็อกคาดว่าจะไม่เกิน 78 ล้านบาท
ส่วนแนวทางที่สามเป็นการนำไปทำพลังงานชีวมวลโดยการนำลำไยดังกล่าวบดให้ละเอียดแล้วอัดเป็นแท่งตะเกียบ โดยความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์วิจัยพลังงานชีวมวล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องต้นแบบแล้วจำนวน 3 เครื่อง วิธีนี้ใช้วิธีการทำลายจำนวน 60 ล้านบาท
นายจรัลธารา ยืนยันว่าทั้ง 3 แนวทางจะโปร่งใสไม่มีลำไยค้างสต็อกออกมาเล็ดลอดปลอมปนกับลำไยที่กำลังจะออกสู่ท้องตลาดในฤดูกาลใหม่นี้อย่างแน่นอน เพราะจะมีการทำลายด้วยการบดละเอียดทีละโกดังที่กระจายอยู่ทั้งหมด 59 โกดังใน 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง ทั้งนี้ ยังเป็นการเช็กสต็อกลำไยอบแห้งไปด้วยในตัว หากปริมาณที่บดทำลายน้อยกว่าที่ขึ้นทะเบียนไว้ไม่ตรงกันโดยหักค่าเสื่อมน้ำหนักไม่เกิน 10% เจ้าของโกดังต้องเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายโดยถือเป็นจำเลยที่ 1
"โดยส่วนตัวแล้วผมว่าแนวทางที่ 3 มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้กว่า 70-80% ซึ่งหลายฝ่ายก็เห็นด้วยและผมเชื่อว่า ครม.จะอนุมัติให้ดำเนินการทำลายแล้วนำมาอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบ หากไม่มีข้อผิดพลาดในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะสามารถดำเนินการได้ทันที" นายจรัลธารา กล่าว
แนวคิดอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบนี้เป็นโครงการทำลายลำไยค้างสต็อกปี 2546/2547 โดยใช้เป็นพลังงานชีวมวล ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยพลังงานชีวมวล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่ง รศ.ดร.พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานชีวมวล กล่าวว่า ขณะนี้มีเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องผลิตชีวมวลอัดแท่งแล้วจำนวน 3 เครื่อง กำลังการผลิต 3 ตันต่อชั่วโมง โดยกำหนดกรอบเวลาทั้งสิ้น 9 เดือน คือ 3 เดือนแรกเป็นการนำลำไยออกจากโกดังแล้วบดละเอียด และอีก 6 เดือนหลังเป็นการผลิตชีวมวลอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบ
ทั้งนี้ จะได้เชื้อเพลิงแท่งตะเกียบจำนวน 40,000 ตัน นำกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิงที่เบื้องต้นคาดว่าจะจำหน่ายให้เตาอบลำไย 9,000 ตัน โรงงานเซรามิก 8,000 ตัน โรงไฟฟ้า 5,000 ตัน และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 1,400 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท
ขณะที่นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ กลับมีความเห็นขัดแย้ง โดยอ้างถึงข้อจำกัดของเครื่องอัดแท่งเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบที่มีเพียง 3 เครื่อง และกำลังการผลิตเพียงชั่วโมงละ 3 ตัน หากเดินเครื่องวันละ 8 ชั่วโมง จะสามารถทำเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบได้วันละ 72 ตันเท่านั้น ซึ่งปริมาณลำไยค้างสต็อกที่มีอยู่กว่า 4.6 หมื่นตัน ต้องใช้เวลากว่า 639 วันหรือ 1 ปี 7 เดือน จึงจะทำลายได้เสร็จหมด แต่หากบดทำลายแล้วนำไปเผาหรือฝังจะใช้เวลาที่สั้นกว่า
กระนั้น นายบัญชาการ พลชมชื่น ประธานเครือข่ายแผนแม่บทลำไยไทย กลับเห็นว่า เกษตรกรยืนยันที่จะให้ทำลายลำไยอบแห้งค้างสต็อกปี 2546/2547 จำนวน 46,000 ตัน ด้วยการบดแล้วอัดแท่งนำไปทำปุ๋ย แต่ในเมื่อผลการตรวจสอบคุณภาพลำไยอบแห้งพบว่าอันตรายและไม่สามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยได้ ก็พร้อมจะยอมรับแนวทางการนำไปบดและอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงแท่งตะเกียบให้เกษตรกรนำไปใช้แทนฟืนในการอบลำไยที่ผลผลิตฤดูกาล 2552 กำลังจะเข้าสู่ท้องตลาด
ทั้งนี้ ไม่ว่าบทสรุปของคณะรัฐมนตรีเรื่องการทำลายลำไยอบแห้งค้างสต็อกปี 2546/2547 จะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องควบคุมให้มากที่สุดคือความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่ปล่อยให้ลำไยเล็ดลอดออกมาปลอมปนกับลำไยจนสร้างควมเสียหายให้ตลาดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
หมดปัญหาอ้าง "สต็อก" กดราคา
วิชาญ จารธรรม หนึ่งในคณะกรรมการบริหารจัดการและทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 ในฐานะตัวแทนของเกษตรกรชาวสวนลำไยยอมรับว่าหลังจากที่รัฐบาลประกาศการทำลายสต็อกสำไยอบแห้งปี 2546/2547 ออกมาอย่างชัดเจน ทำให้พ่อค้ากล้าที่จะรับซื้อผลผลิตลำไยมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องกังวลว่าจะมีลำไยอบแห้งในสต็อกเล็ดลอดเข้ามาปลอมปน ส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตไม่ได้ราคา
"ลำไยอบแห้งปี 2546/2547 เหมือนกับผีที่ตามหลอกตามหลอนเกษตรกรชาวสวนลำไยมาตลอดในช่วง 4-5 ปีมานี้ เพราะพ่อค้าจากจีนไม่กล้าซื้อผลผลิตจากเรา กลัวจะมีลำไยอบแห้งในสต็อกปลอมปน เมื่อส่งตลาดจีนไม่ได้ก็เกิดปัญหาผลผลิตราคาตก เพราะจีนเป็นตลาดหลักที่รับซื้อลำไยจากบ้านเรา"
วิชาญย้ำว่า สิ่งที่เกษตรกรชาวสวงนลำไยต้องการมากที่สุดก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ลำไยอบแห้งหมดไปจากสต็อกโดยเร็วที่สุดในแง่ทางจิตวิทยา เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นข้ออ้างของพ่อค้าในการนำสินค้าในสต็อกไปกดราคาลำไยในฤดูการผลิตใหม่เหมือนเช่นทุกๆ ปีที่ผ่านมา
"คิดว่าลำไยปีนี้ราคาน่าจะดีกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งก็เพราะสต็อกลำไยอบแห้งมีปัญหามาตลอดได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะต้องทำลายทิ้งภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ จีนเป็นตลาดใหญ่รับลำไยได้ไม่อั้น เพียงแต่ให้เขามีความมั่นใจเท่านั้นว่าเป็นผลผลิตจากฤดูผลิตใหม่เท่านั้น ไม่ย้อมแมว เพราะลำไยเป็นผลไม้ที่คนจีนชื่นชอบอยู่แล้ว อย่างปีนี้จีนมีออเดอร์มาแล้วประมาณ 150,000 ตัน" วิชาญกล่าวอย่างมั่นใจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 29 มิถุนายน 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090629/18512/3ทางเลือกทำลายลำไยอบแห้งอีกบทพิสูจน์ความโปร่งใสรัฐ!.html