เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 52
สามประเทศลุ่มน้ำโขง จับมือสานสัมพันธ์เปิดการเดินรถขนส่งตามเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก เผยเป็นการเพิ่มช่องทางระบายสินค้าให้ขนส่งได้สะดวก รวดเร็ว และปริมาณเพิ่มขึ้น สศก.แนะหากจะให้เกิดผลดีอย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาแนวทางกระตุ้นการซื้อขาย
นางสุภาพร พิมลลิขิต รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยว่า ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการเปิดการเดินรถขนส่งตามเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC: East - West Economics Corridor) จากจุดผ่านแดนมุกดาหาร ประเทศไทย ไปยัง สะหวันนะเขต ของ สปป.ลาว และลาวบาว ของเวียดนาม ซึ่งเชื่อว่า จะเกิดผลดีต่อการค้า การท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นการเพิ่มช่องทางระบายและขนส่งสินค้าให้สะดวก รวดเร็ว และได้ปริมาณเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยทำให้สามารถรักษาคุณภาพของสินค้าไม่ให้บอบช้ำ อันเนื่องมาจากการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนตั้งแต่ต้นทางข้ามพรมแดนไปยังจุดหมายปลายทาง โดยไม่ต้องมีการเปิดตู้ขนส่งสินค้าตามจุดผ่านแดนต่างๆ เป็นการลดต้นทุนค่าขนส่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม หากจะให้เกิดผลดีต่อภาคการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคการผลิตและตลาด ควรหารือเพื่อวางแนวทางการดำเนินงานในการกระตุ้นให้เกิดการซื้อการขาย โดยจัดให้มีการพบปะกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้ค้า เพื่อกำหนดแผนการตลาดที่เหมาะสมเพื่อรองรับสินค้าเกษตรกรไทย โดยเฉพาะผลไม้ไทยที่จะออกสู่ตลาดในอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้า
สำหรับการเปิดการเดินรถขนส่งดังกล่าว เป็นไปตามความร่วมมือสาขาคมนาคมขนส่งภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS: Greater Mekong Subregion) ที่ไทย - ลาว - เวียดนาม ได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ระหว่างประเทศไทย ลาว และเวียดนาม เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกในอนุภาคลุ่มน้ำโขงที่เหลือคือ กัมพูชา พม่า จีน ได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงฯ และเปลี่ยนชื่อเป็นความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภาคลุ่มน้ำโขง (GMS CBTA: Cross Border Transport Agreement)
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 29 มิถุนายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=168018