ลดขั้นตอนขึ้นทะเบียน 'สารธรรมชาติกำจัดศัตรูพืช' เปิดทางให้เกษตรกรผลิตจำหน่ายทดแทนสารเคมี
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 52
ลดขั้นตอนขึ้นทะเบียน 'สารธรรมชาติกำจัดศัตรูพืช' เปิดทางให้เกษตรกรผลิตจำหน่ายทดแทนสารเคมี

จากสถิติการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรในปัจจุบันพบว่า ปริมาณการนำเข้าสารเคมีของไทย ในปี 2550 มีปริมาณ 67,895 ตัน คิดเป็นมูลค่า 15,026.32 ล้านบาท และปี 2551 มีปริมาณ 66,563 ตัน คิดเป็นมูลค่า 19,181.75 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งหากไม่มีการควบคุมหรือเกษตรกรนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องจะเกิดความไม่ปลอดภัย ดังนั้นภาครัฐจึงมีนโยบาย
ส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรหันมาพึ่งพาธรรมชาติ เน้นการทำเกษตรอินทรีย์หรือแบบผสมผสาน เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมี คืนความสมดุลให้กับธรรมชาติ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร นายวิชา ธิติประเสริฐ ผอ.สำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนไม่น้อยก็มีการใช้ภูมิปัญญาในการนำพืชหรือสารที่มีอยู่ในธรรมชาติมาสกัดเป็นสารขับไล่หรือกำจัดแมลงศัตรูพืชอยู่แล้ว เช่น สะเดา ขมิ้นชัน โดยเป็นลักษณะผลิตเพื่อใช้เองไม่ได้มุ่งเน้นไปเพื่อการค้า แต่เมื่อยุคสมัยที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีราคาสูงขึ้นมาก ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้สารธรรมชาติทดแทนสารเคมี จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะเพิ่มมูลค่าและรายได้จากการจำหน่ายสารธรรมชาติเพื่อกำจัดศัตรูพืช
ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 กำหนดให้สารธรรมชาติที่มีลักษณะการผลิตโดยการนำมาตากแห้ง แล้วนำมาสับ บดให้เป็นผง ให้ควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 จึงต้องมีการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบวิเคราะห์ และต้องมีข้อมูลทางวิชาการรับรองว่ามีพิษมากน้อยเพียงไร ต่อคน สัตว์ แมลงและสิ่งแวดล้อม หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ค่อนข้างยุ่งยากและไม่สอดคล้องกับนโยบายที่จะกระตุ้นให้เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรหันมาผลิตสารธรรมชาติเพื่อจำหน่ายมากนัก ส่งผลให้ในปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรมาขอขึ้นทะเบียนเพื่อขายอย่างถูกต้องเพียง 2-3 รายเท่านั้น
ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรจึงลดระดับการควบคุมผลิตภัณฑ์สารธรรมชาติกำจัดศัตรูพืชเพื่อขายจากที่เคยจัดเป็นชนิดที่ 2 ให้ลดลงมาเป็นชนิดที่ 1 ซึ่งจัดเป็นวัตถุที่มีอันตรายน้อยหรือไม่มีอันตรายเลย แต่มันมีอันตรายหรือเป็นพิษต่อพืชหรือแมลงที่ไม่ต้องการ โดยกำหนดให้ผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายต้องแจ้งข้อมูลต่อกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น ไม่ต้องทำการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ ไม่ต้องทดสอบประสิทธิภาพ และไม่ต้องประเมินความเป็นพิษ เหมือนวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสุดในการควบคุมวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
“การลดขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อลดภาระของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ และผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งต้องการผลิตสารธรรมชาติจากพืชสำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อจำหน่าย ให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ เป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สามารถใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการใช้พืชพรรณธรรมชาติใกล้ตัวให้เป็นประโยชน์ ลดต้นทุนการผลิต ไม่มีผลตกค้างหรือมีน้อย และสลายตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ดี การขึ้นทะเบียนสารธรรมชาติเพื่อกำจัดศัตรูพืชยังเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้เกษตรกร ผู้ใช้ได้มีแหล่งรับรองที่น่าเชื่อถือมากขึ้น เวลามีปัญหาจะได้ทราบถึงที่มาที่ไป เป็นการลดความเสี่ยงต่อผู้ใช้ได้ระดับหนึ่ง” ผอ.วิชา กล่าว
นี่เป็นอีกช่องทางหนึ่งของเกษตรกรที่จะสร้างรายได้เสริมนอกจากการขายผลผลิตทางการเกษตรแต่อย่างเดียว เมื่อภาครัฐเขาเปิดช่องทางให้ขนาดนี้ใครมีดีก็แสดงออกมาให้เต็มที่ แต่สำหรับเกษตรกรคนใดที่ทำสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อกำจัดศัตรูพืชไว้ใช้เอง ก็ไม่ต้องกังวลยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ไม่ต้องมาขออนุญาตขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการแต่อย่างใด.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=5530
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า