เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 52
ประธาน ธนาคารอิสลามระบุ กลุ่มนักลงทุนจากตะวันออกกลางเคืองไทยโจมตีลงทุนเกษตร ทั้งที่แค่คุยเบื้องต้น ยังไม่มีข้อตกลงใดๆ เชื่อถูกโยงจากเรื่องอดีตนายกฯทักษิณ กับกลุ่มพ่อค้าข้าวด้านเอกชนขย่มซ้ำ ทีประเทศอื่นมาลงทุนไม่โดนต้าน
พล.ท.สมชาย วิรุฬหผล ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับนักลงทุนจากตะวันออกกลาง ในนามกลุ่มประเทศจีซีซีประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ คูเวต บาร์เรน โอมาน กรณีภาคเอกชนและสื่อไทยนำเสนอข่าวต่อต้านการลงทุนใช้พื้นที่ประเทศไทยทำการเกษตรนั้น กลุ่มประเทศดังกล่าวไม่พอใจท่าทีของไทยเป็นอย่างมาก เพราะกรณีที่มีการเปิดเผยนั้น เพียงอยู่ระหว่างการเจรจาเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนรูปแบบการลงทุนยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ในขณะที่การลงทุนจริงจะต้องมีการทำความข้อตกลงอย่างชัดเจน
พล.ท.สม ชายกล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเช่นกันถ้ากลุ่มประเทศเหล่านั้นมีวัตถุประสงค์เข้ามาครอบครองพื้นที่ในไทย แต่เท่าที่ทราบไทยสามารถเจรจาทำความข้อตกลงทำให้ประเทศไม่เสียประโยชน์หลายช่องทาง เช่น การทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง แต่ข่าวและท่าทีของไทยที่ออกไปเท่ากับเป็นการตัดประโยชน์ที่จะได้รับจากกลุ่มประเทศอาหรับอย่างมาก
"มองว่าเรื่องดังกล่าวถูกเชื่อมโยงจาก 2 ประเด็นหลักคือ ประเด็นทางการเมือง เพราะอดีตนายกฯทักษิณ คือคนที่ชักชวนนักธุรกิจจากประเทศบาห์เรนเข้ามาลงทุนในไทย และอีกประเด็นคือ เรื่องผลประโยชน์ ทั้งจากกลุ่มโรงสีและกลุ่มผู้ค้าข้าว"
พล.ท.สมชายกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเสียผลประโยชน์จากกลุ่มประเทศจีซีซี เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้กำลังมองหาโอกาสลงทุนอย่างต่อเนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ความพร้อมทางการลงทุนและความต้องการอาหารสำหรับประเทศ
นอกจากนี้หลังจากความไม่คืบหน้าเรื่องการลงทุนในประเทศไทยในช่วงหลายปี ล่าสุดเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มประเทศจีซีซีได้ลงทุนการเกษตรที่ประเทศอินโดนีเซียมูลค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญ และยังลงทุนในประเทศเขมร ลาว เวียดนามด้วย ประเทศที่กลุ่มประเทศจีซีซีเข้าไปลงทุนล้วนได้รับประโยชน์จากการลงทุนทั้งสิ้น
นายอดิศักดิ์ อัสมิมานะ นายกสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลไทย กล่าวว่า ความสนใจของกลุ่มประเทศจีซีซีถูกต่อต้านโดยภาคเอกชนของไทย สื่อ และการให้ข้อมูลเรื่องกฎหมายจากกระทรวงพาณิชย์ถือเป็นการกระทำที่เร็วเกินไป เพราะเป็นเพียงการเจรจาเบื้องต้นเท่านั้น แต่มีข้อสังเกตคือ ในประเทศไทยเองมีหลายประเทศเข้ามาลงทุนด้านการเกษตร อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน แต่กลับไม่เคยปรากฏเป็นข่าวด้านลบ ทั้งที่ประเทศเหล่านั้นล้วนลงทุนในพื้นที่ประเทศไทยผลิตสินค้าเกษตร หลายกลุ่ม เช่น ธุรกิจแปรรูปต้นยูคาลิปตัสเป็นกระดาษ สินค้าเกษตรกลุ่มผักผลไม้ รวมถึงธุรกิจสัตว์เลี้ยงเพื่อรับประทาน สินค้าดังกล่าวคนไทยส่วนใหญ่กลับไม่เคยได้บริโภค เพราะประเทศเหล่านั้นเพียงใช้พื้นที่เพื่อผลิตสินค้าและสร้างมูลค่าให้กับตนเองเท่านั้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 มิถุนายน 2552
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01eco01300652§ionid=0103&day=2009-06-30