งานวิจัยต้นแบบ ระบบปลูกพืชแนวเศรษฐกิจพอเพียง 'เมืองพัทลุง'
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 52
งานวิจัยต้นแบบ ระบบปลูกพืชแนวเศรษฐกิจพอเพียง 'เมืองพัทลุง'
ผลพวงจากกระแสโลกาภิวัตน์และระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกรไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนอกจากเกษตรกรจะต้องต่อสู้กับเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นและผจญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตพืชมีคุณภาพลดลง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง กรมวิชาการเกษตร จึงได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “
การพัฒนาเกษตรกรต้นแบบการจัดการปลูกพืชเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดพัทลุง” ขึ้น เพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบด้านการผลิตพืชผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้
นายสำราญ สะรุโณ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง หัวหน้าคณะนักวิจัยเรื่องการพัฒนาเกษตรกรต้นแบบการจัดการปลูกพืชเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า รอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ปัจจุบันมีกว่า 5.77 ล้านครัวเรือนขณะที่เนื้อที่ถือครองทำการเกษตรลดลงร้อยละ 5.3 พร้อมกับหนี้สินของครัวเรือนเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.3 โดยพบว่าหนี้สินของครัวเรือนยากจนส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมเพื่อใช้ในการทำการเกษตรและใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและอุปโภคในครัวเรือน ซึ่งมีหนี้สินทั้งในและนอกระบบ
เบื้องต้นทีมวิจัยได้คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ที่มีการปลูกพืชแตกต่างกัน 11 ระบบ ได้แก่ ระบบยางพารา พืชไร่, ระบบยางพารา ข้าว พืชไร่, ระบบยางพารา ไม้ผล, ระบบยางพารา ผัก ไม้ผล, ระบบข้าว พืชผัก, ระบบข้าว ไม้ผล ผัก, ระบบข้าว พืชไร่, ระบบทฤษฎีใหม่พื้นที่ลุ่มข้าว พืชผัก, ระบบทฤษฎีใหม่พื้นที่ลุ่มข้าว ไม้ผล, ระบบทฤษฎีใหม่พื้นที่ลุ่มยางพารา ข้าว และระบบทฤษฎีใหม่พื้นที่ดอน ยางพารา ข้าว และไม้ผล เข้าร่วมโครงการวิจัยฯ
จากนั้นคณะวิจัยฯ ได้เร่งสร้างความ เข้าใจและปลูกฝังแนวคิดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สู่การพึ่งพาตนเองของต้นแบบ 4 ด้าน คือ
1.สร้างหัวใจพอเพียง ซึ่งพบว่าเกษตร กรต้นแบบให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งความพออยู่พอกิน การลดต้นทุน ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคก็ขาย รายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วต้องไม่มีหนี้สิน ปลูกพืชแล้วเพื่อนบ้าน พลอยได้ประโยชน์ และทำไปเรียนรู้ไป
2.พัฒนาพืชผสมผสานพอเพียง พบว่า เกษตรกรปลูกพืชเฉลี่ย 22.8 ชนิด/ครัวเรือน เป็นพืชรายได้ 3.2 ชนิด พืชอาหาร 9 ชนิด พืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ 6.8 ชนิด พืชสมุนไพรกำจัดศัตรูพืช 1.5 ชนิด กลุ่มพืชที่มีการปลูกน้อย คือ พืชอาหาร พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ พืชใช้สอย พืชอนุรักษ์พันธุกรรม และพืชพลังงาน
3.พัฒนาภูมิปัญญาพอเพียง โดยเน้นให้เกษตรกรต้นแบบมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาและพัฒนาขีดความสามารถในการทำวิจัยด้วยตนเอง ซึ่งประเด็นที่เกษตรกรสนใจทำการทดลอง ได้แก่ การลดต้นทุนปุ๋ยเคมี และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในยางพารา การใช้สารชีวภาพทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูในพืชผัก การเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนข้าว ไม้ผล พืชไร่เพื่อเพิ่มรายได้ และเพิ่มการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้วย
4.การดำรงชีวิตพอเพียง พบว่าเกษตรกรมีความสามารถในการดำรงชีพให้พอเพียงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความมีภูมิคุ้มกันด้านทุนในการดำรงชีพ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะสามารถขยายผลและสร้างเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบความพอเพียงได้ 55 ครัวเรือน
“การทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐ กิจพอพียง เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกร อยู่รอดและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เกษตรกรสามารถนำความพอเพียงเข้ามาผสมผสานในระบบบริหารจัดการการผลิต ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรผ่านพ้นวิกฤติไปได้” สำราญ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องนี้ ในการประชุม “ระบบเกษตรแห่งชาติครั้งที่ 5” ภายใต้หัวข้อ “พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ” ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2552 นี้ ที่โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง โทร. 0-7484-0130.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 มิถุนายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=5689
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า