ปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ที่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จ.สงขลา(2)
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 52
ปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ที่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จ.สงขลา(2)
เมื่อพุธที่แล้ว
บอกถึงขั้นตอนการเตรียมดิน การคัดเลือกกิ่งพันธุ์ การบังคับมะนาวให้ออกดอกแล้วติดผลและการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งมิใช่ ว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็แล้วกันไปเลย เก็บเกี่ยวไปแล้วเราก็ต้องดูแลหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเพราะต้นมะนาวจะยังคงให้ผลผลิตต่อไปอีกนาน หากมีการดูแลดี ๆ อีกแหละ ข้อมูลต่อไปนี้เป็นข้อมูลจากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.สงขลา โดย คุณพงษ์ศักดิ์ วิเศษสินธุ์ และคุณสุภา ด้วงนุ้ย
สำหรับขั้นตอนการดูแลหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต มีตั้งแต่
การตัดแต่งกิ่ง หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว ควรตัดแต่งกิ่ง ที่เป็นโรค กิ่งตาย กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออก เพื่อกำจัดโรค และให้ต้นมะนาวได้รับแสงอย่างทั่วถึง
การใส่ปุ๋ยและเพิ่มดิน หลังการเก็บเกี่ยวในท่อแต่ละปีควรผสมดินร่วนกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกผสมเพิ่มให้เต็มปากบ่อและใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 ช้อนแกงต่อต้นและให้น้ำตามปกติเพื่อให้ลำต้นแข็งแรงอยู่เสมอเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะให้ผลผลิตในปีต่อไป การป้องกันกำจัด อย่าให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้น และไม่ควรใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกมากเกินในช่วงฤดูฝน
ส่วนศัตรูของมะนาว ได้แก่
1
. หนอนชอนใบ จะทำความเสียหายให้กับมะนาวในระยะแตกใบอ่อน โดยจะชอนไชกัดกินอยู่ระหว่างผิวใบด้านหน้าและหลังใบ จะมองเห็นเป็นทางสีขาวคดเคี้ยวไปมา ใบหงิกงอ ขอบใบม้วนเข้าหาเส้นกลางใบ และใบไม่เจริญเติบโต ต้นมะนาวจะแคระแกร็นและไม่ติดผล ป้องกันกำจัดโดยหมั่นตรวจดูตามใบและยอดของมะนาว โดยเฉพาะระยะที่มะนาวเริ่มผลิใบอ่อน กรณีที่ระบาดน้อยให้เด็ดใบเผาทำลาย หากพบมากใหัฉีดพ่นด้วยสมุนไพรไล่แมลง เช่น น้ำส้มควันไม้ สารสะเดา หรือสมุนไพรอื่น ๆ
2. หนอนกินใบ (หนอนแก้ว) จะกัดกินใบอ่อนและยอดอ่อนของมะนาว เราสามารถ ป้องกันกำจัดโดยหมั่นตรวจดูตามใบอ่อนและยอดอ่อน เมื่อพบไข่และตัวหนอนก็จับทำลาย
3. เพลี้ยไฟ จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน และผลการทำลายจะรุนแรงในระยะผลอ่อน นับตั้งแต่เริ่มติดผล ช่วงระยะการระบาดจะขึ้นอยู่กับการแตกยอดอ่อน และ ระยะติดผล ผลที่ถูกทำลายจะปรากฏรอยสีเทา เป็นวงบริเวณขั้วผลและก้นผล หรือเป็นขีดสี เทาตามความยาวของผล กำจัดโดยเด็ดผลที่แคระแกร็นทิ้ง และทำลายให้พ้นจากบริเวณต้นมะนาว
4. ไรแดง ลักษณะใบจะเปลี่ยนเป็น สีน้ำตาลหงิกงอ ไม่เจริญเติบโตและร่วงหล่น ผลมะนาวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในเวลาต่อมา ผิวผลจะกร้าน ผลแคระแกร็น และร่วงในที่สุด กำจัดโดยฉีดพ่นด้วยกำมะถันผงชนิดละลายน้ำในอัตรา 4 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 10-15 วัน ในตอนเช้าหรือตอนเย็นเพื่อป้องกันอาการใบไหม้
ทั้งนี้หากเกษตรกรปลูกมะนาวจำนวนมาก หรือปลูกเชิงการค้า หากมีศัตรูมะนาวจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้วิธีการที่แนะได้แล้ว ก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูมะนาว แต่อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยของสุขภาพ ด้วย
จบเรื่องมะนาวขอแถมเรื่อง การเลี้ยงเป็ด ของศูนย์แห่งนี้ ซึ่งเลี้ยง เป็ดพันธุ์บาบารี่ จำนวน 100 ตัว ซึ่งเป็นเป็ดเนื้อลูกผสมที่เจริญเติบโตเร็ว ต้านทานโรคได้ดี กินเก่ง และเลี้ยงง่าย ซึ่งนอกจากจะเลี้ยงด้วยอาหารแล้วสามารถให้อาหารเสริมจากธรรมชาติได้ เช่น ผักตบชวา ต้นสาคู เปลือกหอย เศษอาหาร เปลือกกุ้ง หอยเชอรี่ เป็นต้น ดังนั้น หากเกษตรกรเลี้ยงเป็ดพันธุ์บาบารี่ ก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก ทำให้ได้กำไรมากขึ้น
ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 12 สัปดาห์ โดยซื้อพันธุ์เป็ดที่มีอายุประมาณ 1 สัปดาห์มาเลี้ยง และให้อาหารวันละ 2 ครั้ง โดยใช้สูตรอาหารที่สามารถผสมได้เอง คือ
1. รำข้าว 5 ส่วน
2. ปลายข้าว 1 ส่วน
3. อาหารไก่เนื้อ 1 ส่วน
สำหรับการเลี้ยงเป็ดพันธุ์บาบารี่ ในสัปดาห์ที่ 1-3 เลี้ยงด้วยอาหารไก่เนื้อเล็ก โดยใช้หลอดไฟกกเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ลูกเป็ด สัปดาห์ที่ 4-12 เลี้ยงด้วยอาหารผสมตามสูตร และให้อาหารเสริมที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น ก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้
ส่วนราคาการจำหน่ายขึ้นอยู่กับตลาด ตอนที่เขาไปสำรวจนั้นราคาอยู่ที่ประมาณตัวละ 210 บาท (เป็ดน้ำหนักตัวละ 3 กิโลกรัม) ซึ่งหากเลี้ยงครั้งละ 100 ตัว จะขายได้เงินประมาณ 21,000 บาท จากต้นทุนการผลิตประมาณ 15,000 บาท กำไรประมาณ 6,000 บาท.
ปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ ของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จ.สงขลา (ตอนที่ 1)
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 กรกฎาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=5839
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า