นิคมสหกรณ์อ่าวลึก จ.กระบี่ วันนี้ไม่ขาดแคลนข้าวเพื่อการบริโภค
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 52
นิคมสหกรณ์อ่าวลึก จ.กระบี่ วันนี้ไม่ขาดแคลนข้าวเพื่อการบริโภค
ในพื้นที่นิคมสหกรณ์อ่าวลึก จ.กระบี่ สมาชิกส่วนใหญ่ใช้พื้นที่สำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน พื้นที่ทำนาจึงลดลงทำให้ผลผลิตข้าวในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึกไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ จึงต้องซื้อข้าวที่ผลิตได้จากท้องถิ่นอื่น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสไว้ในวโรกาสที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ คณะผู้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานความก้าวหน้าของโครงการฯ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2530 ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ประสานงานกับส่วนราชการต่าง ๆ ในการจัดทำโครงการปลูกข้าวเพื่อบริโภคครบวงจรขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกรวมกลุ่มทำการผลิตข้าวโดยใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ ซึ่งทำให้สามารถผลิตข้าวได้อย่างต่อเนื่องในรูปของธนาคารข้าวและโรงสี
จากพระราชดำรัสดังกล่าว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการปกครอง และกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อดำเนินการร่วมกันในการส่งเสริมให้เกษตรในพื้นที่เขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึก ได้ทำนาปลูกข้าวไว้บริโภคอันเป็นการพึ่งพาตนเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าวจากภายนอก มีการดำเนินงานในโครงการต่าง ๆ ประกอบด้วย การส่งเสริมอาชีพการเกษตร ในลักษณะโครงการต่อเนื่องจากโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ดำเนินการในพื้นที่บริเวณเดียวกันในลักษณะของการส่งเสริมให้พึ่งพาตนเองโดยการปลูกข้าวไว้บริโภค
ในการนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้มีอาชีพทำนาโดยจัดหารถไถแทรกเตอร์ ขนาด 85 แรงม้าจำนวน 1 คันและรถไถเดินตามจำนวน 5 คัน และก่อสร้างอาคารตลาดกลางข้าวเปลือกประจำตำบลขึ้นที่บริเวณใกล้ ๆ กับที่ทำการสหกรณ์นิคมปากน้ำ จำกัด ได้จัดซื้อรถไถเดินตามเพิ่มอีก 2 คันในปีพ.ศ. 2540 รวมเป็นจำนวน 7 คัน
ส่วนราชการอื่น เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมพัฒนาชุมชน ให้การสนับสนุนในด้านวิชาการ และปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย เป็นต้น ส่วนกรมชลประทานได้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำและระบบคลองส่งน้ำ สามารถส่งน้ำเข้าพื้นที่เป้าหมายได้ รวมทั้งพื้นที่ทำนาบริเวณใกล้ ๆ กับอ่างเก็บน้ำด้วย ต่อมา ใน ปีพ.ศ. 2538 กรมชลประทานร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ได้ทำการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นรวม 7 กลุ่ม จำนวน 147 ครอบครัว ซึ่งมีพื้นที่ทำนา 1,049 ไร่ ร่วมกันบริหารจัดการน้ำ สำหรับข้าวที่ปลูกจะเป็นข้าวพันธุ์เล็บนกซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดพัทลุง เมื่อนำมาหุงจะมีความนุ่มนวล หอม รสชาติอร่อย เป็นที่นิยมบริโภคของผู้คนโดยทั่วไป และพันธุ์เข็มทอง ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองท้องถิ่นที่มีคุณภาพดี ข้าวสารเมล็ดเรียวยาว เมื่อหุงสุกจะอ่อนนุ่ม ไม่เหนียวเกาะกัน และไม่แข็งกระด้าง รสชาติอร่อยเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ขายได้ราคาสูง ซึ่งให้ผลผลิตข้าวประมาณ 40-48 ถังต่อไร่
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มีการปลูกผักหลังฤดูเก็บเกี่ยว เช่น แตงกวา พริกขี้หนู ฟักขาว พืชผักสวนครัว หมุนเวียนได้ตลอด ทั้งปี และคาดกันว่าในปีต่อ ๆ ไปเกษตรกรจะหันมาปลูกผักสวนครัวเพิ่มมากขึ้น เพราะราคาดีไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากระบบชลประทานของโครงการเอื้ออำนวย ต่อการ ทำการเพาะปลูกได้เป็นอย่างดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 กรกฎาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=6025
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า