เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 52
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราช ดำรัสว่า หญ้าแฝกเป็น “กำแพงมีชีวิต” ทั้งนี้ เพราะแนวลำต้นของหญ้าแฝกเสมือนแนวกำแพงบนดินที่ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ ที่เหมืองผาแดง จังหวัดตาก โดยบริษัทฯ ได้นำหญ้าแฝกมาเป็นพืชเบิกนำในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่สิ้นสุด กิจกรรมการทำเหมืองแร่แล้ว เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยดำเนินการปลูกแฝกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และปลูกต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้นับเป็นปีที่ 7 จะปลูกเพิ่มอีกจำนวน 3.3 ล้านต้น รวมแฝกที่ปลูกแล้วทั้งสิ้น 13.3 ล้านต้น
กิจกรรมปลูกแฝกในปีนี้ จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 700 คน ประกอบด้วย พนักงานบริษัท ผาแดงฯ ครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ รอบเหมือง ผู้นำชุมชน สถานีพัฒนาที่ดินตาก สื่อมวลชน โดยมีนายเชิดศักดิ์ ชูศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดตากให้เกียรติเป็นประธาน นอกจากร่วมกันปลูกแฝกแล้ว บริษัทฯ ยังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้ในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งจัดกิจกรรมพิเศษเชิญชวนเยาวชนร่วมประกวดคำขวัญและเรียงความในหัวข้อ แฝก ดิน น้ำ ความผูกพันที่ยั่งยืน เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำแก่เยาวชน รวมทั้งร่วมสนุกตอบปัญหาชิงรางวัล
นายเทียนชัย สิงหการ ผู้อำนวยการเหมือง กล่าวว่า “เหมืองผาแดงนับเป็นแหล่งปลูกหญ้าแฝกใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเขตภาคเหนือ โดยเป็นเหมืองแร่แห่งแรกและแห่งเดียวในขณะนี้ที่ได้นำแฝกมาใช้ในการฟื้นฟู สภาพแวดล้อมอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพราะหญ้าแฝกเป็นพืชที่มีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นคือทนแล้ง และโตเร็ว เหมาะสมกับสภาพดินภายในเหมืองฯ ซึ่งประสบปัญหาปลูกพืชหรือต้นไม้เติบโตได้ช้า แต่หลังจากนำแฝกมาปลูกควบคู่กับไม้ยืนต้นและพืชคลุมดินแล้วพบว่า ไม้ยืนต้นมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสอดคล้องกับผลการเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ที่พบอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น เนื่องจากแฝกช่วยกักตะกอนทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์
เมื่อปี 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสว่า หญ้าแฝกเป็น “กำแพงมีชีวิต” ทั้งนี้เพราะแนวลำต้นของหญ้าแฝกเสมือนแนวกำแพงบนดินที่ป้องกันการพังทลายของ หน้าดิน ส่วนรากแฝกเสมือนแนวกำแพงใต้ดินที่ยึดดินให้มีเสถียรภาพโดยเฉพาะในแนวดิ่ง และลาดชัน เนื่องจากแฝกมีระบบรากที่แน่นหนา หยั่งลึกลงในแนวดิ่งได้ถึง 2-3 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน นอกจากป้องกันการพังทลายของหน้าดินแล้ว ยังพบว่าแฝกยังสามารถช่วยลดตะกอนดินที่จะไหลลงบ่อกักเก็บตะกอน โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน”
นายเชิดศักดิ์ ชูศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า “การปลูกแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นกิจกรรมที่สนองพระราชดำริของพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเหมืองผาแดงได้นำองค์ความรู้และคุณสมบัติอันโดดเด่นของแฝกมาใช้ในการ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและจริงจังจนเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งนับเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีความมุ่งมั่นและเอาใจใส่ต่อการดูแลและ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างน่ายกย่อง กิจกรรมปลูกแฝกนี้ยังสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและเอกชนรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อดำเนินงานสนองแนวพระราช ดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยแฝก”
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 กรกฎาคม 2552
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1246535845&grpid=01&catid=04