เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 52
นายเอกชัย ตั้งจารุกุล ผู้จัดการทั่วไปธุรกิจปาล์มน้ำมัน กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรเครือเจริญโภคภัณฑ์ เผยว่า ตามที่รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับปาล์มน้ำมันทั้งระบบอย่างยั่งยืนนั้น ทำให้เกษตรกรในภาคตะวันออกและภาคใต้โดยเฉพาะพื้นที่สวนยางพาราเก่า และพื้นที่นาร้างหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ขณะนี้ราคาจำหน่ายต้นพันธุ์ปาล์มขยับมาอยู่ที่เฉลี่ยต้นละ 100-150 บาท แต่ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคใต้และตะวันออกพบว่า มีร้านจำหน่ายพันธุ์ปาล์มและโรงเรือนเพาะพันธุ์ปาล์มขนาดย่อยที่ไม่มีใบอนุญาตทำแปลงเพาะพันธุ์ปาล์มจากกรมวิชาการเกษตรเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนาปาล์มน้ำมันของประเทศในอนาคต
"ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนไม่น้อย ยังขาดความรู้ความเข้าใจการเลือกซื้อพันธุ์ปาล์มคุณภาพ จึงหลงเชื่อไปซื้อต้นพันธุ์ปาล์มปลอม จากร้านหรือแหล่งเพาะพันธุ์ปาล์มที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตจากกรมวิชาการเกษตรที่มักจะใช้วิธีเก็บเมล็ดจากโคนต้นปาล์ม หรือต้นกล้าที่งอกจากบริเวณโคนต้นปาล์มมาเพาะเอง แล้วแอบอ้างว่า เป็นต้นปาล์มคุณภาพที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรต้องสูญเสียรายได้และมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตลอดอายุการให้ผลผลิตปาล์มที่เฉลี่ย 32 ปี เพราะปาล์มน้ำมันที่ปลูกจากเมล็ดโคนต้น มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่อปีต่ำกว่าพันธุ์ที่ปรับปรุงถูกต้องถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลเสียหายต่อกลไกด้านการตลาดและกระทบโดยตรงต่อแผนการพัฒนาปาล์มน้ำมันของประเทศด้วย"
นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงฝากถึงเกษตรกรที่สนใจจะปลูกปาล์มน้ำมัน นอกจากจะเพิ่มความรอบคอบในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของโรงเรือนเพาะพันธุ์ โดยการสอบถามจากสวนปาล์มในพื้นที่และสถานที่ติดต่อที่ชัดเจนของผู้จำหน่ายแล้ว เกษตรกรควรขอตรวจสอบเอกสารใบอนุญาตทำแปลงเพาะพันธุ์ปาล์ม และเอกสารรับรองการนำเข้าพันธุ์ที่ถูกต้องฉบับจริงที่ออกโดยกรมวิชาการเกษตรจากโรงเรือนเพาะพันธุ์ปาล์มทุกครั้งก่อนที่จะซื้อ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการซื้อพันธุ์ปาล์มปลอมที่อาจเกิดขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 3 กรกฎาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=168586