เพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 52
เพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์
ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีคนตกงานเป็นจำนวนมาก ในขณะนี้
การเพาะถั่วงอกนับเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำเงินได้เร็ว ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน มีข้อมูลว่าคนไทยบริโภคถั่วงอกไม่น้อยกว่า 1 ล้านกิโลกรัมต่อวัน แต่รูปแบบการเพาะถั่วงอกตัดรากและผลิตในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์จนได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์ มาตรฐานประเทศไทย จากกรมวิชาการเกษตร จะมีอยู่เพียงไม่กี่รายที่มีชื่อเสียงระดับประเทศจะเป็นของ คุณนิมิตร์ เทียม มงคล ชาวอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ได้เริ่มต้นจากการเพาะถั่วงอกตัดรากไร้สารพิษในตะกร้าพลาสติก ประยุกต์วัสดุเพาะมาเพาะในบ่อซีเมนต์เนื่องจากความต้องการของตลาดมีมากขึ้น
คุณนิมิตร์บอกว่าในการเพาะถั่วงอกในวงบ่อซีเมนต์นั้น จะใช้วงบ่อขนาดปากกว้าง 50 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร เมื่อคิดเป็นต้นทุนค่าวงบ่อประมาณ 80 บาทต่อวงซึ่งเป็นค่าลงทุนเพียงครั้งแรกและครั้งเดียว (เพาะถั่วงอกตัด รากแบบอินทรีย์เพียงครั้งเดียวจะได้ค่าวงบ่อคืนแล้ว)
หลักสำคัญ 3 ประการที่จะทำให้การเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ประสบความสำเร็จ คือ 1. เมล็ดพันธุ์ถั่วดี คือ มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง สายพันธุ์ถั่วเขียวที่คุณนิมิตร์แนะนำคือสายพันธุ์ “กำแพงแสน 2” เนื่องจากเป็นถั่วเขียวผิวมัน เมล็ดใหญ่ มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงทำให้ถั่วงอกที่เพาะออกมา ต้นโต ยาว อวบอ้วน น่ารับประทาน
2. ภาชนะที่เพาะต้องทึบแสง มีการระบายน้ำดี เช่น การเพาะถั่วงอกในตะกร้า ก็เอาถุงดำมาคลุมแล้วไว้ในห้องที่มืด หรือ เพาะในวงบ่อซีเมนต์ที่ปิดปากบ่อให้มืด เป็นต้น
3. มีการให้น้ำอย่างเหมาะสมและเพียงพอที่จะทำให้ถั่วงอกที่เพาะไม่เกิดความร้อนที่สะสมมากเกินไป
วิธีสังเกตง่าย ๆ ว่ามีความร้อนสะสมหรือไม่ โดยให้ผู้เพาะใช้มือสัมผัสเมล็ดถั่วเขียวชั้นบนสุดว่ารู้สึกร้อนหรือไม่ และการให้น้ำแต่ละครั้งจะต้องไม่มีไอจากความร้อนขึ้นมา เพราะถ้าตะกร้าหรือวงบ่อที่เพาะถั่วงอกมีความร้อนสะสมมากไป ก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของถั่วงอกจะทำให้ลำต้นเล็ก ไม่อวบอ้วน จะทำให้ถั่วงอกมีรากฝอยมาก ทำให้ไม่น่ารับประทาน
การผลิตถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ใน 1 วงบ่อปูน จะใช้เมล็ดถั่วเขียวประมาณ 1.8 กิโลกรัมต่อวงบ่อ เมื่อเพาะแล้วจะได้ถั่วงอก 10-12 กิโลกรัม เอกลักษณ์ของถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ ต้นยาวและขาว, มีรสชาติหวาน กรอบ (หลายคนรับประทานเหมือนมันแกวไม่เหม็นเขียว) เก็บไว้ได้นาน หากใส่ถุงมัดปากถุงในอุณหภูมิปกติจะไว้ได้ราว 3 วัน แต่หากเก็บไว้ในตู้เย็น จะเก็บไว้ได้นานราว 7-10 วัน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 3 กรกฎาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=568&contentID=6203
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า