ปีนี้ผลไม้ไทยยังมีอนาคต เกษตรกรควรใส่ใจคุณภาพผลผลิต
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 52
ปีนี้ผลไม้ไทยยังมีอนาคต เกษตรกรควรใส่ใจคุณภาพผลผลิต
ช่วงนี้ นับเป็นฤดูกาลผลไม้ เนื่องจากจะเห็นได้ว่ามีผลไม้ออกมาสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เงาะ มังคุด ลิ้นจี่ ซึ่งล้วนแต่มีผลผลิตออกมามากกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องหาแนวทางในการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลผลไม้ของประเทศไทย ผลไม้หลายชนิดก็ทยอยออกมาสู่ท้องตลาด หากเทียบราคากับปีที่แล้วถือว่าไม่ได้ตกต่ำกว่ามากนัก ผลไม้หลายชนิดราคาดี หลายชนิดราคาก็อาจจะต่ำกว่าในบางช่วง แต่รัฐบาลก็ได้เข้ามามีนโยบายในการรองรับทำให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจแล้ว
“สำหรับลิ้นจี่ปีนี้ผลผลิตออกมามากกว่าปีที่แล้ว จึงทำให้ราคาค่อนข้างต่ำ ส่วนลำไยคาดว่าปีนี้น่าจะมีประมาณ 540,000-550,000 หมื่นตัน ในขณะที่ปีที่แล้วมีประมาณ 400,000 กว่าตัน ซึ่งก็นับว่ามากกว่าปีที่แล้วเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการในการดูแลในเรื่องของราคา โดยการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการระวังปัญหาของผลไม้ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาได้มีการกำหนดนโยบายในเรื่องของลำไย ซึ่งคาดว่าลำไยที่จะออกมามากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ ราคาก็จะตก ทางกระทรวงเกษตรฯจึงได้ทำเรื่องขอเงิน คชก. โดยปีนี้ก็ได้ประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่วนเรื่องผลไม้ทางภาคตะวันออก อย่างเงาะ และมังคุด ตอนนี้ก็ได้เบาบางลงไปแล้ว เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอเงิน คชก.เข้าไปดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ การกระจายผลผลิต และการสนับสนุนในการส่งออก
ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ผลไม้ทางภาคใต้ ก็จะเริ่มทยอยออกมา ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯจะนำเงินที่ได้มาจาก คชก. ไปบริหารจัดการแก้ไขปัญหา ที่มีทั้งเงินจ่ายขาดและเงินทุนหมุนเวียน เพื่อที่จะบรรเทาและช่วยพยุงราคาสินค้าผลไม้เหล่านั้น ให้ราคาไม่ตกต่ำ ดังนั้นคาดว่าปีนี้เกษตรกรน่าจะพออยู่ได้
จากข้อมูลที่มีพบว่าในหลายภูมิภาคทั่วโลก ผลไม้ไทยยังสามารถที่จะแทรกตัวออกไปได้ดี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้าด้วย ดังนั้นถ้าเราสามารถกระจายผลผลิตได้โดยไม่ให้กระจุกอยู่ในฤดูกาลเท่านั้น ก็จะช่วยให้ไม่เกิดการล้นตลาดและราคาดี และที่สำคัญควรมีการคัดแยกเกรดด้วย
สำหรับเรื่องการโซนนิ่ง นายมณฑล เห็นว่า ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย และนับเป็นภารกิจหลักของกระทรวงเกษตรฯ แต่ก็ยอมรับว่าทำได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เช่น จำเป็นต้องมีสิ่งจูงใจในการปลูก และต้องพยายามทำความเข้าใจกับเกษตรกรทั้ง ในเขตโซนนิ่งและนอกเขตโซนนิ่งเพื่อให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดทำเป็นนิคมการเกษตรขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ ประมาณ 7 แห่ง โดยมีนิคมข้าว นิคมข้าวโพด และนิคมมันสำปะหลัง เป็นต้น และจากการที่เกษตรกรหันไปปลูกพืชพลังงาน อย่างปาล์มน้ำมัน ยางพารา กันมากขึ้น ก็มีผลต่อผลไม้ที่ลดลงบ้าง แต่ก็ไม่มีผลเป็นนัยสำคัญมากนัก เพราะการเปลี่ยนแปลงทางด้านไม้ผลค่อนข้างที่จะยากเพราะต้องใช้เวลา และการลงทุน
“ในเรื่องของการผลิตไม้ผลนั้น มองว่าเราได้เปรียบและยังมีตลาดอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย หรืออินโดนีเซีย ยังมีความต้องการบริโภคสินค้าของเราอยู่มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เกษตรกรควรต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ ถ้าคุณภาพดีตลาดยังไปได้อีกไกลทั้งภายในและนอกประเทศ” นายมณฑล กล่าว
จะเห็นได้ว่าผลไม้ไทยปีนี้ยังมีอนาคตไกล เพียงแต่เกษตรกรต้องใส่ใจและเน้นเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ จึงจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=6735
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า