เดินพัน 'ยุทธศาสตร์ยางพารา' เดินพันอนาคตเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 52
เดินพัน 'ยุทธศาสตร์ยางพารา' เดินพันอนาคตเศรษฐกิจไทย
แม้วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบไปยังภาคธุรกิจหลายส่วน แต่ก็ดูเหมือนว่า “
ยางพารา” จะเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่จาก ไทยเพื่อนำไปผลิตล้อรถ ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนจนพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
“สุขุม วงษ์เอก” ผอ.สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า จากที่เราวิเคราะห์สถานการณ์ พบว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อยางพาราไม่มากนักเพราะยังมีความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกมาก เช่นในกรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ แม้รถที่ผลิตใหม่จะขายได้น้อย แต่สำหรับคนที่ใช้รถอยู่แล้วก็ยังคงใช้กันต่อไป ยางรถยนต์ซึ่งใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตจึงยังขายได้
“ที่เรามีโครงการยางล้านไร่หรือโครง การปลูกยางอื่น ๆ เพราะเราประเมินเรื่องนี้มาตลอด โดยวิเคราะห์กันว่า จนถึงปี พ.ศ. 2563 ผลผลิตยางของโลกก็จะยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ไม่พอกับเศรษฐกิจโลกที่มีการขยายตัวสูงขึ้น เพียงแต่เวลานี้มันเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา ทำให้เกิดอาการสะดุด ซึ่งประมาณการไว้ว่า น่าจะอยู่ที่ราว ๆ 2-3 ปี สถานการณ์ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”
ที่สำคัญ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างสมบูรณ์ ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ก็จะเป็นช่วงเดียวกันกับเกษตรกรในโครงการยางล้านไร่จะสามารถเริ่มเปิดกรีดยางพาราเพื่อป้อนผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้อย่างเหมาะเจาะพอดีอีกหลายแสนตัน
ดังนั้นภายใต้การดำเนินการของรูปการณ์ดังกล่าว หากมีการเตรียมกระบวนการจัดการที่ดี ทั้งทางด้านการผลิต การตลาด การส่งเสริมอุตสาหกรรม การเพิ่มมูลค่าสินค้า และการบริหารจัดการ ก็ย่อมเป็นโอกาสให้ไทยสามารถกอบโกยรายได้จากยางพาราเข้าสู่ประเทศมากขึ้น
“กระทรวงเกษตรฯก็คำนึงถึงเรื่องนี้ มาตลอดเช่นกัน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร “สมชาย ชาญณรงค์กุล” เริ่มต้นการบอกเล่า “กระทรวงฯได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก จัดทำร่าง ยุทธศาสตร์การพัฒนายางพารา พ.ศ. 2552-2556 ขึ้นมา
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะประกอบไปด้วย 6 กลยุทธ์ คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางและคุณภาพยาง 2.การพัฒนาระบบตลาดยางในประเทศและต่างประเทศ 3.การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปยาง ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยาง 4.การปรับปรุงระบบบริหารจัดการภาครัฐ 5.พัฒนาบุคลากรด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางในระยะสั้นและระยะยาว และ 6.สนับสนุนการวิจัยยางเพื่อพัฒนาการผลิตการตลาด“สิ่งที่เราอยากจะเห็นต่อจากนี้ไป คือ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจาก 278 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เป็น 306 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี หรือทำให้ผลผลิตโดยรวมของประเทศเพิ่มจาก 3.09 ล้านตัน ในปี 2551 เป็น 3.40 ล้านตัน ในปี 2556 นอกจากนี้ยังเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติในประเทศจาก 397,495 ตัน ในปี 2551 เป็น 550,000 ตัน ในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยาง จาก 178,954 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 230,000 ล้านบาท ในปี 2556 และเกษตรกรมีรายได้จากการทำสวนยางไม่น้อยกว่าปีละ 15,000 บาทต่อไร่”
“แต่จะทำอย่างไรล่ะ” นี่คือคำถามที่ “กรมวิชาการเกษตร” บอกว่า จะเป็นโจทย์แรกที่ทุกฝ่ายจะต้องกลับมานั่งวิเคราะห์เป็นแผนปฏิบัติการ หลังจากครม.เห็นร่างยุทธศาสตร์การพัฒนายางพารา
“เราต้องตีโจทย์ให้แตกว่า อุตสาหกรรมไหนที่เรามีศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ ไม่ใช่การมองเพียงว่า ไทยส่งออกล้อเครื่องบินได้ ดังนั้นจึงควรพัฒนากลุ่มนี้ แบบนี้ถือว่ามาผิดทิศ เพราะนั่นเป็นของบริษัทข้ามชาติที่เขามีเทคโนโลยี มีการค้นคว้าวิจัย และมีการสั่งสมความรู้มานาน เพียงแต่เขาเข้ามาตั้งโรงงานในไทยเพื่อลดต้นทุนเรื่องวัตถุดิบ ขณะที่ไทยก็ได้ประโยชน์เฉพาะในแง่ไม่ต้องส่งออกยางพาราไปขายถึงต่างประเทศเท่านั้น และเราก็ไม่มีเทคโนโลยีในเรื่องเหล่านี้มาก่อน”
ดังนั้นทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทย คือ ต้องเป็นอุตสาหกรรมของคนไทย ที่เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเองได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบของเราได้ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมยางล้อรถบรรทุก การพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยาง โดยต้องเจาะเป็นเรื่อง ๆ ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญจะต้องเกิดความชัดเจนว่า ใครจะเป็นเจ้าภาพ จะต้องทำอย่างไร กรอบเวลาจะเป็นเช่นไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ตามมาภายหลังจากร่างยุทธศาสตร์การพัฒนา ยางพารา พ.ศ. 2552-2556 ได้รับความเห็นชอบไปแล้ว
นี่เป็นสิ่งที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเดิมพันของยุทธศาสตร์ยางพาราครั้งนี้ เป็นการเดิมพันที่จะชี้ชะตาอนาคตของเศรษฐกิจประเทศไทยว่าจะไปข้างหน้าได้อีกสักกี่ก้าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=6741
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า