'ปทุมมา' เป็นที่ต้องการของตลาดโลก
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 52
'ปทุมมา' เป็นที่ต้องการของตลาดโลก
เราเห็นดอกทิวลิป เราก็ว่ามันเป็นดอกไม้ที่สวยงาม โดยเฉพาะที่เขาปลูกเป็นทิวแถวเห็นแล้วรู้สึกชื่นชมสมอุรา ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เขาปลูกเป็นอุตสาหกรรมเลย ปัจจุบันบ้านเราก็มีคนเอาทิวลิปมาปลูกกันแล้ว แต่ต้องมีวิธีการจัดการที่เหมาะสม เพราะมันเป็นไม้ดอกเมืองหนาว แต่ก่อนนั้น เราไม่มีทิวลิป เราเห็น ดอกกระเจียว หรือ ดอก
ปทุมมา เราก็พยายามผลักดันให้มันเหมือนดอกทิวลิป คือจากดอกไม้ที่ไม่มีราคาค่างวดอะไรก็พยายามส่งเสริม ยกระดับมันขึ้นมาให้มันเป็น “ดาว” ให้ได้ มัวแต่ผลักดันปั้นดินให้เป็นดาว จนลืมไปว่า ชาวต่างชาติชอบที่จะนำเอาพืชท้องถิ่นของไทยนี่แหละ ไปจดสิทธิบัตรว่า เป็นพันธุ์พืชของประเทศเขา เราเคยโดนมาแล้วไง ยังไม่เข็ด แล้วปทุมมาที่เรากำลังผลักดันให้เป็นดาวอยู่นี่แหละ เรากำลังหวั่นเกรงว่าจะถูกเนเธอร์แลนด์ยื่นจด “สิทธิบัตร” ฮุบ “พันธุ์ปทุมมา”
เรื่องนี้ช้าไม่ได้ ทาง นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า เนื่องจากแต่ละปีสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) นำเข้าหัวพันธุ์ปทุมมาจากไทยไปปลูกค่อนข้างมาก เพื่อผลิตเป็นไม้ตัดดอกและไม้กระถาง โดยเฉพาะประเทศเนเธอร์แลนด์ได้มีความพยายามที่จะยื่นจดสิทธิบัตรพันธุ์ปทุมมาให้เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเนเธอร์แลนด์ กรมวิชาการเกษตรจึงนำคณะนักพฤกษศาสตร์ของไทยเดินทางไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชคุ้มครองของอียูเพื่อตรวจสอบข้อมูลการยื่นจดสิทธิบัตรคุ้มครองพันธุ์ปทุมมาที่เนเธอร์แลนด์แอบอ้างสิทธิ ถ้าพบว่าเป็นพันธุ์ปทุมมาของไทย กรมวิชาการเกษตรจะยื่นคัดค้านการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชดังกล่าวทันที เพื่อปกป้องพันธุ์พืชไทยไม่ให้ต่างชาติขโมยพันธุ์ไปได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการปกป้องตลาดและมูลค่าการส่งออกหัวพันธุ์ปทุมมาที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไต่ระดับสู่ปีละ 100 ล้านบาท
หากปล่อยให้อียูขึ้นทะเบียน และจดสิทธิบัตรปทุมมาเป็นพันธุ์พืชคุ้มครองของอียูได้ อนาคตจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกหัวพันธุ์ปทุมมาของไทยอย่างมาก โดยผู้ส่งออกต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับประเทศที่ยื่นจดสิทธิบัตรเอาไว้ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น กรมวิชาการเกษตรจำเป็นต้องเร่งตรวจสอบข้อมูลรายละเอียด ทั้งเอกสารเกี่ยวกับพันธุ์ปทุมมาที่เนเธอร์แลนด์ขอยื่นจดสิทธิบัตร พร้อมดูงานในเนอร์สเซอรี่และแปลงปลูกทดสอบ โดยต้องตรวจสอบลักษณะต้น ลักษณะหัว ลักษณะใบ และลักษณะดอก ถ้าพิสูจน์แล้วพบว่า ปทุมมาที่เนเธอร์แลนด์อ้างสิทธิ เป็นปทุมมาต่างชนิดกับพันธุ์ปทุมมาของไทย ก็จะให้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชและจดสิทธิบัตรได้
ปทุมมา หรือที่ชาวต่างชาตินิยม เรียกว่า สยามทิวลิปเป็นไม้ดอกที่มีศักยภาพในการส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 ของไทยรองจากกล้วยไม้ ปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกปทุมมา ปีละประมาณ 30-40 ล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกมี ความต้องการหัวปทุมมาไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทต่อปี โดยมีตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี โปรตุเกส อิสราเอล เบลเยียม อิตาลี จีน และไต้หวัน ถือเป็นตลาดที่มีคุณภาพและมีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีความต้องการหัวพันธุ์ปทุมมา รวมปีละ 2-3 ล้านหัว
แหล่งปลูกปทุมมาเพื่อผลิตหัวพันธุ์เพื่อการส่งออกของไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา เลย และชัยภูมิ เป็นต้น สำหรับพันธุ์ปทุมมาไทยมีค่อนข้างหลากหลาย อาทิ พันธุ์ชมพูพิงค์ ดอยตุง บลูมูน ชมพูพร้าว ขาวสันทราย เขียวมรกต และพันธุ์เชียงใหม่พิงค์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกและส่งออกมากที่สุด โดยประเทศผู้นำเข้ามีความต้องการนำเข้าหัวพันธุ์ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อปลูกขายเป็นไม้ดอกในเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดดีมาก
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 กรกฎาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=347&contentID=6923
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า