เมื่อวันที่ 15 มกราคม 52
ด้วยจำนวนหนี้สินระดับหลักแสน หลังครอบครัวกู้สถาบันการเงินมาลงทุนปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย เป็นเหตุให้ บุญฤกษ์ กิมกวางทอง วัย 30 ปี เกษตรกร หมู่ 6 บ้านคลองปริง ต.เกษตรสุวรรณ อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี
คิดหาทางที่จะปลดหนี้ให้ครอบครัว จึงพยายามศึกษาหาความรู้พืชเกษตรอื่นๆ กระทั่งอ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับไผ่หวาน จ.สระแก้ว จึงได้ไปซื้อพันธุ์มาทดลองเพาะปลูกบนพื้นที่ 3 ไร่ จนปัจจุบันปลดหนี้ได้หมดเกลี้ยง แถมผลผลิตไม่เพียงพอที่จะส่งให้แก่ลูกค้า จนต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 30 ไร่
บุญฤกษ์ เล่าว่า เริ่มทดลองปลูกไผ่หวานเมื่อปี 2547 ซึ่งช่วงนั้นในจังหวัดชลบุรีมีพื้นที่ปลูกราว 2,000 ไร่ สำหรับของตนเองนั้นระยะแรกปลูกบนพื้นที่ 3 ไร่ โดยไปซื้อพันธุ์มาจากสวนไผ่หวานที่ จ.สระแก้ว ราว 1,000 กิ่ง วิธีการปลูก ขั้นตอนต่างๆ จนได้ผลผลิตนั้น บุญฤกษ์ยอมรับว่านอกจากเกิดจากความรู้ของตนเองแล้ว ยังได้รับคำแนะนำจากเกษตรอำเภอ และเจ้าของแปลงไผ่หวาน ที่ตนเองได้เดินทางไปศึกษา
"ผมปลูกเพียง 3 ไร่ ผลผลิตดีมาก ทำรายได้ดีทีเดียว ไม่พอส่งขายตลาดเมืองชล ตลาดเมืองพัทยา ซึ่งเขารับซื้อกิโลกรัมละ 15-30 บาท ในช่วงหน้าแล้ง ส่วนหน้าฝนผลผลิตจะมีมาก ราคาจะตกมาอยู่ที่ 5-10 บาท ก็พออยู่ได้เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำ ทำให้เฉพาะช่วงปีสองปีแรก ผมมีรายได้ถึงปีละกว่าแสนบาท สามารถปลดหนี้สินได้บางส่วน"
นอกจากขายหน่อไผ่หวานเพื่อไปทำเป็นอาหารแล้ว ในส่วนของลำไผ่ บุญฤกษ์บอกก็ขายได้ด้วย ซึ่งในแต่ละกอจะมีผลผลิตที่จะจำหน่าย 3-4 ลำ ซึ่งก็แล้วแต่ลูกค้าจะนำไปใช้ประโยชน์อะไร ทั้งนี้ ผลผลิตหน่อไผ่หวาน หรือลำไผ่ก็ดี จะไม่ใช้สารเคมีแต่อย่างใด ทั้งหมดจะใช้ปุ๋ยขี้ไก่ ขี้เป็ด ขี้หมู ซึ่งขายกันกิโลกรัมละ 1 บาท ในการปลูกแต่ละรุ่น
"คำนวณคร่าวๆ 1 ไร่ ผลผลิตไผ่จะสามารถสร้างรายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วราว 3 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นรายได้ที่ดีทีเดียว ผ่านไปเกือบ 3 ปี ตอนนี้ผมได้ขยายพื้นที่ปลูกบนพื้นที่ของผมเองเพิ่มเป็น 25 ไร่ และเช่าเขาปลูกอีก 5 ไร่" บุญฤกษ์ แจง
พร้อมย้ำอีกว่าเพื่อทำให้ผลผลิตจากไผ่ครบวงจร ล่าสุดเขาจึงเดินทางไปดูการทำน้ำส้มควันไม้จากลำไผ่ที่ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ซึ่งนอกจากจะนำไปใช้ประโยชน์ไล่มดไล่แมลงได้ผลดีอย่างมากแล้ว ในส่วนของถ่านจากลำไผ่ก็สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์นำไปใส่ในตู้เย็น ตู้เสื้อผ้า ในรถยนต์ ฯลฯ เพื่อดับกลิ่นได้เป็นอย่างดี โดยซื้อขายกันที่ราคากิโลกรัมละ 20 บาท ส่วนที่คุณภาพรองลงมาจะขายกิโลกรัมละ 7 บาท
"ขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรีกำลังให้การสนับสนุน โดยจะนำถ่านไม้ไผ่คุณภาพดี มาแปรรูปโดยบรรจุหีบห่อให้เกิดความสวยงาม โดยนำรูปแบบต่างๆ มาเสนอแนะ ซึ่งจะทำให้ขายได้ราคาดีขึ้นอย่างที่บอกจากกิโลกรัมละ 20 บาท ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ"
บุญฤกษ์ กล่าวถึงอาชีพการปลูกไผ่หวานว่า ในพื้นที่บ้านคลองปริงมีปลูกกันเพียง 60 ครอบครัว พื้นที่รวม 250 ไร่ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการผลผลิตของตลาดที่นับวันจะสูงขึ้น ขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับว่า ที่ชาวบ้านปลูกกันน้อยเพราะยังไม่มีความรู้ในเรื่องตลาด ยังต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ดังนั้น ตัวเขาเองจึงอยากจะสร้างเครือข่ายรวมตัวเป็นกลุ่มค้าขายกันเอง เพื่อจะได้ผลกำไรมากยิ่งขึ้น หากเป็นไปได้อยากตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 15 มกราคม 2552
http://www.komchadluek.net/2009/01/15/x_agi_b001_331887.php?news_id=331887