หอมหัวใหญ่ ปี 52 ต้องลดพื้นที่ปลูก
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 52
หอมหัวใหญ่ ปี 52 ต้องลดพื้นที่ปลูก
หลายปีก่อนมีรายงานการศึกษาวิจัยเรื่องหอมหัวใหญ่ในพื้นที่บ้านปง ต.บ้านกาด อ.แม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าในรอบ 10 ปี เกษตรกรจะมีโอกาสกำไรจากการเพาะปลูกหอมหัวใหญ่เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งนับว่าเป็นกำไรที่สูงมากพอสมควรในการที่จะทำให้เกษตรกรกล้าในการลงทุน ขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยชี้นำให้เกษตรกรหันมาเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้นอีกด้วย
ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าพื้นที่การเพาะปลูกหอมหัวใหญ่ในประเทศจีนก็สามารถที่จะเพาะปลูกได้ด้วยเช่นกันและก็มีต้นทุนที่ต่ำกว่าของไทยอีกด้วย ผลผลิตจึงมีมาก ส่วนหนึ่งก็ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยทำให้ปริมาณหอมหัวใหญ่ในประเทศมีเกินความต้องการของตลาด พร้อมกันนี้หอมหัวใหญ่ที่เพาะปลูกในพื้นที่ประเทศไทยจะมีราคาที่สูงกว่าของประเทศจีนเนื่องจากต้นทุนในการเพาะปลูกของไทยสูงกว่า นับตั้งแต่แรงงานไปจนถึงสารเคมีเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชและเพื่อบำรุงพืชให้เจริญเติบโตตามที่ต้องการ
สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2552 นี้รับทราบมาว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาเหมือนเมื่อหลายปีก่อนเช่นกัน เนื่องจากผลผลิตจะมีมากกว่าความต้องการของตลาด ซึ่งล่าสุด น.ส.สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้แจ้งให้สหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ แม่วางและสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ รับทราบถึงสถานการณ์ด้านการผลิตและการตลาดของหอมหัวใหญ่ประจำปี 2552 เพื่อใช้เป็นข้อมูลพิจารณาตัดสินใจที่จะปลูกหอมหัวใหญ่ในฤดูกาลใหม่นี้แล้ว พร้อมทั้งจัดทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อการลดพื้นที่ปลูกได้รับทราบอีกด้วย
โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ข้าวนาปรัง ข้าวโพดหวาน และถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหอมหัวใหญ่ในระบบ Good Agricultural Practice (GAP) อย่างถูกต้องเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชและใช้เท่าที่จำเป็น รวมถึงการไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์ราคาแพงมาปลูก ซึ่งคาดว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะช่วยป้องกันปัญหาสินค้าล้นตลาดและปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำได้
“เนื่องจากสถานการณ์การผลิตและการค้าหอมหัวใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าหอมหัวใหญ่จากประเทศไทย พบว่า ผลผลิตหอมหัวใหญ่ฮอกไกโด มีปริมาณมากเกินความต้องการถึง 8,000 ตัน และสามารถเก็บรักษาในห้องเย็นได้นานถึง 8 เดือน ทำให้ตลาดหอมหัวใหญ่อิ่มตัวจนถึงฤดูกาลผลิตหน้า คือในช่วงมีนาคม-กรกฎาคม 2552 ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาราคาหอมหัวใหญ่ตกต่ำ เหลือเพียงกิโลกรัมละ 2-3 บาท ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงได้มีมาตรการเพื่อรักษาระดับการผลิตหอมหัวใหญ่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยควบคุมให้มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ตามข้อผูกพัน WTO ปริมาณโควตา 3.15 ตัน” น.ส.สุพัตรา อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
และล่าสุดคณะอนุกรรมการการจัดการผลิตและการตลาดกระทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่งได้มีการประชุมและเห็นชอบการเปิดตลาดสินค้ากระเทียม หอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ปี 2552 ตามข้อผูกพันภายใต้องค์การค้าโลก (WTO) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ โดยมีปริมาณและอัตราภาษี การเปิดตลาดสินค้ากระเทียม ตามข้อผูกพัน WTO ปริมาณ 65 ตัน อัตราภาษี ในโควตา ร้อยละ 27 การเปิดตลาดสินค้าหอมหัวใหญ่ ตามข้อผูกพัน WTO ปริมาณ 365 ตัน อัตราภาษีในโควตา ร้อยละ 27 และเปิดตลาดตามความตกลงไทย-นิวซีแลนด์ ปริมาณ 44.37 ตัน อัตราภาษีในโควตา ร้อยละ 20 การเปิดตลาดสินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ ตามความตกลง ไทย-นิว ซีแลนด์ ปริมาณ 0.383 ตัน อัตราภาษีในโควตา ร้อยละ 22 การเปิดตลาดสินค้ามันฝรั่ง ตามความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ปริมาณ 44.22 ตัน อัตราภาษีในโควตา ร้อยละ 20 และเปิดตลาดตามความตกลงไทย-นิวซีแลนด์ ปริมาณ 36.71 ตัน อัตราภาษีในโควตา ร้อยละ 20 ซึ่งจากการพิจารณาปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิด ซึ่งตามข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ ที่ผ่านมา คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิตของเกษตรกรภายในประเทศ
สรุปแล้วสถานการณ์ของหอมหัวใหญ่ในประเทศไทยปีนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ หน่วยด้านการส่งเสริมสนับสนุนการเพาะปลูกไปจนถึงหน่วยด้านการตลาดจำต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งแจ้งข่าวสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกอย่างทันท่วงที ปัญหาที่อาจจะหนักก็จะกลับมาเป็นเบาในที่สุดได้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 มกราคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=187908&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า