เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 52
เดี๋ยว นี้ใครๆ ก็หันไปนิยมปลาทับทิม ซื้อก็ง่ายขายก็คล่อง กินอร่อยเพราะมีเนื้อที่หวานแน่น อุดมด้วยโอเมก้า 3 ช่วยให้สมองดี เลือดดี หุ่นดี ฯลฯ
แต่สินค้าดีอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องรู้จักการบริหารการจัดการด้วย ซึ่งหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสายพันธุ์พืชผักผลไม้ รวมไปถึงหมูเห็ดเป็ดไก่ ต้องยกให้ "ซีพี"
อดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ปลาโดยวิธีธรรมชาติ ทั้งยังถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงปลาทับทิมผ่านโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาทับทิมครบวงจรสู่เกษตรกรไทย เผยความลับให้ฟังว่า
ปลาทับทิม ก็คือปลานิลสายพันธุ์หนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่แม่น้ำไนล์ของทวีปแอฟริกาตอนเหนือ เป็นปลาที่เติบโตเร็ว ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีความต้านทานโรคสูง ออกลูกได้เก่งและมาก
จึงมีการนำพันธุ์ปลาไปเพาะพันธุ์โดยเฉพาะในประเทศมีอาหารประเภทโปรตีนน้อย เช่น ประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงหลังสงครามก็นำปลานิลสายพันธุ์ชนิดนี้นำไปขยายพันธุ์ และนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเป็นอาหารให้กับประชาชน
จนกระทั่งปี พ.ศ.2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้นำลูกปลาสายพันธุ์ปลานิล ทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้นำไปเพาะขยายพันธุ์ต่อภายในพระตำหนักสวนจิตรลดา และได้พระราชทานพันธุ์ปลาชนิดนี้แก่กรมประมง เพื่อแจกจ่ายไปทั่วประเทศในชื่อ "ปลานิลจิตรลดา"
ต่อมาในปี พ.ศ.2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริให้ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ นำปลานิลจิตรลดาไปพัฒนาสายพันธุ์ใหม่โดยเลือกลักษณะเด่นของปลาแต่ละสายพันธุ์ที่ต้องการนำมาผสมพันธุ์จนได้ปลาเนื้อพันธุ์ใหม่ เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำเค็ม
ในปี พ.ศ.2541 พระราชทานนามปลาชนิดใหม่ว่า "ปลาทับทิม" ตามลักษณะภายนอกอันโดดเด่น คือ สีของเกล็ดและตัวปลาที่มีสีแดงอมชมพูดูเป็นมงคล
นอกจากนี้ปลาทับทิมยังมีลักษณะเด่น 9 ประการ อาทิ อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เนื้อเยอะและแน่น หัวเล็ก โครงกระดูกเล็ก ก้างน้อย โตเร็ว ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีความต้านทานต่อโรคสัตว์น้ำต่างๆ ได้ดี ฯลฯ ทาง ซีพีเอฟ และ กรมประมง จึงส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาทับทิมเป็นอาชีพ ตามโครงการ ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง เพื่อให้เกษตรกรไทยมีรายได้ในการประกอบอาชีพที่มั่นคงโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากมาย
เช่น นิกร สุขมารถ เกษตรกรเจ้าของฟาร์มปลาทับทิม "ทินกรฟาร์ม" ที่ ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ที่หันมาเลี้ยงปลาทับทิมเมื่อ ปี 2544 เริ่มจาก 8 กระชัง ด้วยเงินลงทุน 100,000 บาท ปัจจุบันขยายเป็น 260 กระชัง ผลิตปลาเนื้อออกสู่ตลาดได้เดือนละ 40 ตัน สร้างรายได้ประมาณ 150,000 บาทต่อเดือน
แต่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทินกรบอกว่า
" ช่วงต้นปี พ.ศ.2551 น้ำในแม่น้ำแม่กลองเริ่มมีเชื้อโรคในน้ำมากขึ้นส่งผลกระทบต่อปลา โดยเฉพาะลูกปลาที่อยู่ในช่วงอนุบาลปลา ซึ่งทำให้ปลาอ่อนแอและตายไปหลายกระชัง จึงแก้ปัญหาโดยซื้อที่ดินและขุดบ่อดินคลุมผ้าพลาสติคพีอี ทำให้สามารถควบคุมน้ำและควบคุมโรคได้ โดยจัดทำเป็นบ่ออนุบาลลูกปลา เลี้ยงลูกปลาทับทิมจากน้ำหนักเพียง 30 กรัม จนได้น้ำหนักประมาณ 100 กรัม จึงนำลงไปปล่อยในบ่อเลี้ยงในแม่น้ำต่อไป"
นอกจากนี้ทุกเดือนจะมี เจ้าหน้าที่ สัตวแพทย์ และนักวิชาการจากกรมประมง คอยมาให้บริการตรวจสอบคุณภาพน้ำ และให้คำปรึกษาการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง
ที่สำคัญคือจะต้องเป็นคนช่างสังเกต ใส่ใจกับทุกรายละเอียดของงาน เมื่อเกิดปัญหาใดย่อมแก้ไขได้ทันท่วงที
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 15 กรกฎาคม 2552
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra02150752§ionid=0131&day=2009-07-15