เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 52
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯเผยผลสำรวจภาคเกษตรไทยน่าวิตกในรอบ 10 ปี ระบุต้นทุนค่าครองชีพพุ่งสูง ราคาพืชผลตกต่ำ แนวโน้มหนี้นอกระบบเพิ่มต่อเนื่อง รัฐยังจำเป็นต้องเข้าพยุงราคา หนุนระบบประกันราคาแทนรับจำนำ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจสถานะเกษตรกรไทย พบว่า เกษตรกรไทยกำลังอยู่ในภาวะน่ากังวลในรอบ 10 ปี จากปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในภาคเกษตรเพิ่มจาก 1% เป็น 2.5% โดยกลุ่มตัวอย่างในภาคเกษตร 98% ระบุว่ากำลังประสบปัญหาต้นทุนค่าครองชีพสูง 37% ระบุว่าราคาพืชผลทางการเกษตรลดลง 35% ซึ่งผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในขณะนี้ ทำให้ต้องลดการบริโภค 52% มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น 67% รายได้ลดลง 48% การออมลดลง 67%
นอกจากนี้ ยังพบว่าเกษตรกรมีหนี้สินถึง 95% มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 114,477 บาท เพิ่มขึ้นจากการผลสำรวจเดือนธันวาคม 2551 ที่มีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือน 88,059 บาท โดยเป็นหนี้ในระบบ 65% ลดลงจากธันวาคม 2551 ที่มีสัดส่วน 77.8% ขณะที่หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นเป็น 35% จากเดือนธันวาคม 2551 ที่มีสัดส่วน 22.2% สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันเกษตรกรมีหนี้นอกระบบเพิ่มสูงขึ้น และในอีก 1 ปีข้างหน้าหนี้นอกระบบจะยังคงเพิ่มสูงมากกว่าหนี้ในระบบเช่นกัน จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ทำให้ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีการผิดนัดชำระถึง 27% โดยหนี้สินส่วนใหญ่ 29% นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ลงทุน 27% ซื้อยานพาหนะ 13% ค่ารักษาพยาบาล 12%
"ภาคเกษตรกำลังบอบช้ำพอสมควร และอยู่อย่างยากลำบาก จากปัญหาต้นทุนสูง แต่ราคาพืชผลลดลง 20-30% กระทบต่อรายได้ที่หายไป 30% จนเกิดภาวะขาดสภาพคล่อง ทำให้มีหนี้สินเพิ่ม ออมลดลง และเข้าหาหนี้นอกระบบมากขึ้น ซึ่งผิดกับ 3 ปีที่ผ่านมา จะไม่มีม็อบเกษตรกร ซึ่งกว่า 60% กลุ่มสำรวจเกษตรกรระบุว่ากำลังประสบปัญหามากในเรื่องรายได้ลดลง รายได้หายากขึ้น และตกงานแล้ว แต่ก็ยังเห็นว่าภาคเกษตรยังพึ่งพาได้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา และเห็นว่าภาคเกษตรยังเพิ่มแรงงานได้อีก 40%"
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า รัฐบาลยังคงจำเป็นต้องเข้าไปช่วยพยุงภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่ประชาชนพึ่งพาได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี จึงมีความจำเป็นต้องดูแลราคาพืชผล และเห็นด้วยกับการประกันราคาพืชผลที่ใกล้เคียงกับราคาจำนำหรือสูงกว่า เพราะรัฐจะใช้งบประมาณน้อยกว่ารับจำนำและใช้กับสินค้าได้หลากหลายชนิด นอกจากต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และแก้ปัญหาต้นทุนเพาะปลูกและค่าครองชีพให้ต่ำลง
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 กรกฎาคม 2552
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01eco01170752§ionid=0103&day=2009-07-17