ปราบปรามผู้ผลิตและจำหน่าย 'วัตถุอันตรายผิดกฎหมาย' พร้อมจับกุมผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งวงจร
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 52
ปราบปรามผู้ผลิตและจำหน่าย 'วัตถุอันตรายผิดกฎหมาย' พร้อมจับกุมผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งวงจร
ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูก เกษตรกรต้องการใช้ปุ๋ยและวัตถุอันตรายทางการเกษตรค่อนข้างมาก จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการ ลักลอบผลิตปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรปลอม หรือเสื่อมคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานออกจำหน่ายในท้องตลาดปริมาณมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาปุ๋ยและวัตถุอันตรายที่ไม่ได้มาตรฐานแพร่ระบาดไปสู่เกษตรกรผู้ใช้ กรมวิชาการเกษตรจึงเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร ปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์พืชควบคุม โดยล่าสุดได้ปล่อยขบวนคาราวานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรรวมกว่า 320 นาย ลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งผลิตและร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางเกษตรที่ขึ้น ทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร กว่า 13,000 แห่งทั่วประเทศ
ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ส่งเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรไปสุ่มตรวจโรงงานและร้านจำหน่ายวัตถุอันตรายในหลายพื้นที่ ซึ่งมีการเก็บตัวอย่างปุ๋ยและวัตถุอันตรายมาตรวจสอบคุณภาพว่ามีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานผู้ประกอบการก็จะมีความผิดมีโทษทั้งจำและปรับ
ล่าสุด…กรมวิชาการเกษตรได้รับแจ้งจากเกษตรกรว่า มีโรงงานในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีผลิตวัตถุอันตรายและปุ๋ยโดยไม่มีใบอนุญาต เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสถานที่ผลิตพบว่ามีโกดังอยู่ 2 โกดัง กำลังผลิตวัตถุอันตรายและธาตุอาหารรอง อาหารเสริม โดยไม่มีใบอนุญาตผลิต ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนผลิต และใบรับแจ้ง จึงได้เก็บตัวอย่างวัตถุอันตรายจากทั้ง 2 โกดัง รวม 22 รายการ อายัดไว้จำนวน 17 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 35 ล้านบาท และเก็บตัวอย่างปุ๋ยรวม 8 รายการ อายัดจำนวน 3 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 90,000 บาท นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรได้แจ้งความลงบันทึกประจำวันเรียบร้อยแล้ว เพื่อรอผลตรวจสอบคุณภาพวัตถุอันตรายและปุ๋ยที่เก็บตัวอย่างไปทั้งหมด
สำหรับความผิดที่ผู้ประกอบการจะได้รับคือ ถ้าผลิตวัตถุอันตรายและมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผลิตวัตถุอันตรายปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 700,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผลิตปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากการตรวจสอบและจับกุมผู้ประกอบการที่ผลิตวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว สิ่งต่อไปที่กรมวิชาการเกษตรดำเนินการคือ การสืบสวนขยายผลให้ได้ข้อมูลเชื่อมโยงไปถึงผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งระบบ เช่น ร้านค้าที่รับซื้อวัตถุอันตรายที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ก็เพื่อปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายวัตถุอันตรายหรือปุ๋ยที่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่ได้รับการอนุญาตไม่ให้ไปสู่มือเกษตรกรผู้ใช้ เนื่องจากถ้าเกษตรกรซื้อวัตถุอันตรายที่ไม่ได้คุณภาพ นอกจากจะเสียเงินซื้อสินค้าที่ให้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่แล้ว สิ่งที่ตามมาหลังการใช้วัตถุอันตราย สารเคมีทางการเกษตรที่ไม่มีคุณภาพก็คือ แมลงศัตรูพืชอาจจะดื้อยาและพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนทานมากขึ้นได้ เกษตรกรต้องเพิ่มปริมาณการใช้เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
“ขอให้เกษตรกรระมัดระวังในการเลือกซื้อปุ๋ยและวัตถุอันตราย ให้ซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะร้านค้า Q Shop ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ที่สำคัญการใช้วัตถุอันตรายต้องดูฉลาก และใช้ตามวิธีที่ฉลากระบุไว้อย่างเคร่งครัด และอย่าหลงเชื่อบุคคลที่นำวัตถุอันตรายมาเร่ขายให้ในราคาถูกผิดปกติ เพราะวัตถุอันตรายไม่สามารถนำมาเร่ขายได้ต้องขายในร้านค้าที่มีใบอนุญาตเท่านั้น” นายวิชา ธิติประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าว
หากใครพบเห็นการกระทำผิดของผู้ประกอบการหรือร้านค้าที่ผลิตและจำหน่ายปุ๋ย วัตถุอันตรายปลอมหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งเบาะแสมายังกรมวิชาการเกษตรได้ทันที ถือว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจกันปราบปรามผู้กระทำความผิด เกษตรกรจะได้ผลิตพืชผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัยออกมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 กรกฎาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=9057
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า