ยกเครื่อง 'สถาบันเกษตรกร' ใช้กลไกทางบัญชีพลิกฟื้นธุรกิจ ผ่าน 7 มิติการปรับเปลี่ยน
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 52
ยกเครื่อง 'สถาบันเกษตรกร' ใช้กลไกทางบัญชีพลิกฟื้นธุรกิจ ผ่าน 7 มิติการปรับเปลี่ยน
"
สถาบันเกษตรกร” นับเป็นฐานรากทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เพราะระบบสหกรณ์มุ่งหวังให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งและดำเนินกิจการของสหกรณ์ ในฐานะเป็นองค์กรของสมาชิกเพื่อช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งปัจจุบันประชาชนมีการรวมกลุ่มและพัฒนาธุรกิจของตนทั้งในรูปสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรมากถึง 13,539 สถาบัน สมาชิกกว่า 11.5 ล้านคน และมีทุนดำเนินการ 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.09 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ (GDP)
การสร้างความเข้มแข็ง เป็นอิสระ พึ่งพาตนเองได้ให้กับสถาบันเกษตรกร จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แท้จริงตามแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการ แก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดีบนพื้นฐานความสมดุลอย่างพอดี
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงจัดทำ “โครงการพลิกฟื้นธุรกิจสถาบันเกษตรกรผ่านกลไกทางบัญชี” โดยมุ่งหวังเสริมสร้างพัฒนาองค์ความรู้และสร้างโอกาสการเรียนรู้ช่วยกันใน มิติทั้ง 7 ด้านอันได้แก่ การพัฒนาด้านบริหารจัดการด้านการเงินและบัญชีของสถาบันเกษตรกรและกลุ่มอาชีพ การสร้างความเข้มแข็งด้วยเครื่องมือสารสนเทศ เช่น ส่งเสริมสหกรณ์ใช้โปรแกรมระบบบัญชีที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ การสร้างความร่วมมือผู้ตรวจสอบกิจการ การให้ความรู้ภูมิปัญญาทางบัญชีแก่สมาชิก การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งการให้ความสนใจเกษตรกรรุ่นใหม่ (นักเรียน) และการพัฒนาอาสาสมัครครูบัญชี
การเชื่อมโยงกิจกรรมแต่ละมิติจะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งในสถาบันเกษตรกร จะเกิดการปรับเปลี่ยนและเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานสถาบันเกษตรกร สนองนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามโครงการพลิกฟื้นธุรกิจสถาบันเกษตรกรฯ ในการสร้างวินัย 2 ด้าน คือ วินัยทางการเงินของสมาชิก เน้นการสร้างมาตรฐานภูมิปัญญาทางบัญชี เพื่อรู้รายรับ รู้รายจ่าย รู้ต้นทุน อันก่อให้เกิดการออม ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานการรวมกลุ่ม และการจัดการการธุรกิจกลุ่ม เพื่อสร้างความโปร่งใสให้สมาชิก อันจะทำให้เกิดวินัยการสหกรณ์ ซึ่งตอบสนองความต้องการของสมาชิกทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเป็นระบบ
สำหรับแนวทางการดำเนินงานจะเป็นแบบร่วมประสานระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กับกรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร แบบบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ปรับโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำ การปรับปรุงคุณภาพดิน การดูแลเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การจัดการที่ดินทำกิน และการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นต้น
การพลิกฟื้นธุรกิจสถาบันเกษตรกรผ่านกลไกทางบัญชี กรมฯ ได้เลือก สหกรณ์การเกษตรบ้านแพง จำกัด จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่นำร่อง ด้วยการนำ 7 มิติการปรับเปลี่ยน มาขับเคลื่อน พร้อมศึกษาและวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจทางการเงินของสถาบันเกษตรกรจังหวัดนครพนม เพื่อให้มีความสามารถในการพลิกฟื้นสถาบันเกษตรกรให้ดำรงอยู่ได้ในภาวะ เศรษฐกิจปัจจุบัน อันนำมาซึ่งการเป็นสหกรณ์ต้นแบบและเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ให้กับสหกรณ์อื่น ๆ ได้ ทั้งนี้กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะนำร่อง “สหกรณ์การเกษตรต้นแบบ” จังหวัดละ 1 แห่ง ให้ครบทั้ง 76 จังหวัดอีกด้วย
“การพลิกฟื้นธุรกิจสถาบันเกษตรกรผ่านกลไกทางบัญชี” น่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสถาบันเกษตรกรเกิดความเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างความร่วมมือกันในการทำธุรกิจของสหกรณ์ ด้วยการสร้างวินัยทางการเงินของสมาชิกและสหกรณ์ อันเป็นการขยายผลไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 กรกฎาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=9063
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า