แม่เมาะ ลำปาง วันนี้พืชผักเจริญเติบโตดี
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 52
แม่เมาะ ลำปาง วันนี้พืชผักเจริญเติบโตดี
เมื่อปี พ.ศ. 2511 รัฐบาลในขณะนั้นได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขึ้นโดยรวมเอากิจการของการลิกไนต์การไฟฟ้ายันฮี และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ มาเป็นหน่วยงานเดียวกัน ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 กฟผ. ได้รับโอนทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่ และภาระทั้งมวลจากทั้ง 3 องค์การมาดำเนินการ และเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2515 คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะจำนวน 2 หน่วย ขนาดหน่วยละ 75,000 กิโลวัตต์ขึ้น พร้อมกับงานขยายเหมืองแม่เมาะ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตจากที่เคยผลิตได้วันละแสนกว่าตันเป็นล้านตัน จนถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้ก่อสร้างและติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าเสร็จใช้งานแล้ว 13 หน่วย
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีทั้งหมด 13 เครื่อง มีกำลังผลิตรวม 2,625 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 1 และ 2 ซึ่งได้หยุดเดินเครื่องตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 และเครื่องที่ 3 หยุดเดินเครื่องตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2542 ดังนั้นโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จึงมีกำลังผลิตปัจจุบันคือเครื่องที่ 4-13 จำนวน 2,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าสำหรับภาคเหนือ 50% ภาคกลาง 30% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20% โดยใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงปีละประมาณ 16 ล้านตัน
ขณะเดียวกันทาง กฟผ. ยังได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มาตั้งแต่ปี 2520 เพื่อควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการฯ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.) ในปี 2533 มีการวางแผนให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 12-13 มีระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulfurization System-FGD) โดยให้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2538 ขณะเดียวกันได้ศึกษาความเหมาะสมในการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ฯ สำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องอื่น ๆ ที่ได้เดินเครื่องจ่ายไฟเข้าระบบด้วย
ในปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ฯ แล้วเสร็จสำหรับเครื่องที่ 4-13 ส่วนเครื่องที่ 1-3 ไม่ได้ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซฯ เนื่องจากได้หยุดเดินเครื่อง (Cold Stanby) และจากผลของการดำเนินการดังกล่าวเป็นผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพด้านการเพาะปลูกพืชอาหารหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญของคนเราดังกรณีของ นายฤทธิ ศรีชัง ประชาชนหมู่บ้านใหม่มงคล อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
ซึ่งนายฤทธิได้เล่าให้ฟังว่า ตนเข้ามาอาศัยอยู่ที่แม่เมาะมา 14 ปีแล้ว ใหม่ ๆ ยังไม่มีอาชีพอาศัยลูกอยู่ ก็คิดว่าจะทำอะไรดี ก็เริ่มขุดเอาหินในพื้นที่ออกเริ่มปลูกข้าวโพด พร้อมปลูกถั่วฝักยาวจากนั้นปลูกพืชยืนต้นเป็นมะนาว 30 ต้น ด้วยการขุดหลุมให้ลึกเอาผ้ายางปูแล้วเอาเศษพืชผักผสมกับปุ๋ยหมักที่ทำเองใส่รองก้นหลุมจากนั้นเอาดินปลูกใส่ทับเมื่อรดน้ำก็จะมีการดูดซึมที่ดีขึ้น ใช้ปุ๋ยขี้วัวไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเพราะจะทำให้หน้าดินแข็งรากพืชหากินลำบาก เมื่อถึงเดือนเมษายนอากาศร้อนก็หาเศษวัสดุทางการเกษตรปิดหน้าดินเพื่อให้ไม่ร้อน
“พืชผลจะงามไม่งามไม่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อยู่ที่คนปฏิบัติผมทำมาไม่เคยผิดหวังได้ทุกเดือน เดือนละ 4-5 พันบาท ทำมา 7-8 ปี ยึดเป็นอาชีพได้เป็นอย่างดี ถ้าทำแบบผมคงไปรอด มองดูแล้วอาชีพนี้ไม่ตกต่ำอยู่ได้ทุกคนถ้าใจรัก ที่ปลูกก็มี กวางตุ้ง หัวปลี ผักกาดขาว ผักบุ้ง มะละกอแขกดำ” นายฤทธิ ศรีชัง กล่าว
นายฤทธิ ศรีชัง เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า มะละกอแขกดำปีหนึ่งก็ช่วยได้เยอะขายได้ลูกละ 20 บาท ขายตรงทั้งหมด ทุกวันนี้ผลผลิตไม่พอขายแรงงานมีเพียง 2 คน นอกจากนี้ในพื้นที่บริเวณบ้านพักก็ยังมีการเลี้ยงปลาด้วย ซึ่งตอนแรกก็ซื้อเขา พออยากกินกบก็ซื้อกบมา อยากกินปลาก็ซื้อปลามา ก็คิดว่าถ้าไม่ต้องซื้อก็ต้องเลี้ยงเอง เอากบมาใส่บ่อเลี้ยงพอกบกอดเป็นคู่ ๆ ก็เริ่มแยกบ่อ ปีแรกได้ 50 ตัว ตอนนี้มีเหลือกินส่วนหนึ่งก็เอาไปขายที่ตลาด ต่อมาเพาะเลี้ยงปลาดุกได้ลูกเป็นแสนตัวก็ขายได้เช่นกัน
“ตอนแรกไม่รู้ระบบไม่มีอะไรดูไม่มีใครบอก ก็มาคิดเอาเองพอให้อาหารมาก ๆ อาหารก็จม ตักน้ำขึ้นมาน้ำก็เสีย ก็เรียนรู้มาก็แก้ระบบไป ปีนี้ไปรอดไม่ต้องซื้อกิน กบก็ขายได้หลายพันซึ่งส่วนใหญ่ขายลูกกบ พอลูกออก 4 ขา ก็เริ่มขายได้ เลี้ยง 1 เดือน ก็ขายตัวละ 1.50 บาท 1 เดือนครึ่งขาย 2 บาท ตอนนี้ไม่พอขายเช่นกัน” นายฤทธิ กล่าว
จากตัวอย่างนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการดำรงชีพโดยการเพาะปลูกและเพาะเลี้ยงสัตว์ น่าจะสามารถเพียงพอแก่การกล่าวได้ว่าปัญหาเรื่องมลพิษที่หลายคนกังวล และกังขาตลอดมานั้น วันนี้ไม่มีแล้ว เนื่องจากทั้งพืชและสัตว์เลี้ยงทุกชนิดจะมีผลอย่างเป็นนัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตที่ต้องเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เมื่อพืชและสัตว์เลี้ยงสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีและพอเพียงแก่การเลี้ยงชีพของประชาชนด้วยแล้วก็ย่อมที่จะพิสูจน์ได้ว่า ที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศแต่ประการใด ที่สำคัญปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้กำลังก้าวเข้าสู่แหล่งการเรียนรู้ เพื่อการยังชีพของประชาชนไทยในหลายพื้นที่ ซึ่งตลอดที่ผ่านมามีประชาชนจากต่างถิ่นเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องทีเดียว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 มกราคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=188018&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า