เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 52
นายจิรากร โกศัยเสวี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า ขณะนี้พบผู้ประกอบการหลายรายจำหน่ายพันธุ์ยางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร และไม่ขยายพันธุ์ยางจากต้นยางพันธุ์ดีตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ หากเกษตรกรหลงเชื่อซื้อตามคำชี้ชวนและนำไปปลูก ผลเสียหายจะไม่เพียงแต่จะตกกับเกษตรกรเท่านั้น ยังกระทบไปถึงผลผลิตยางและเศรษฐกิจของประเทศด้วยที่ต้องเสียเงินหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้นเกษตรกรควรเลือกซื้อพันธุ์ยางจากแปลงขยายพันธุ์ยางที่ได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น
นายจิรากร กล่าวอีกว่า พันธุ์ยางแต่ละพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรกว่าจะได้เป็นพันธุ์ยางแนะนำออกมา เพื่อให้เกษตรกรได้ปลูกกันอย่างถั่วถึงต้องใช้เวลาในการปรับปรุงพันธ์นานถึง 25 - 30 ปี โดยใช้แผนการปรับปรุงพันธุ์ตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การผสมพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ เปรียบเทียบพันธุ์ขั้นต้น - ขั้นปลาย และทดสอบในพื้นที่ต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่น คือ ให้ผลผลิตสูงทั้งน้ำยาง หรือเนื้อไม้ และพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูก ต้านทานโรค
เพื่อมิให้เกิดปัญหา ผู้ประกอบการรายใดขยายพันธุ์ต้นยางและจำหน่ายพันธุ์ต้นยาง โดยไม่มีใบอนุญาตอยู่ในขณะนี้ ขอให้รีบมาขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย ต้องระวังโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท รวมทั้งริบต้นยางหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นยางที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดในคดีเพื่อนำไปทำลาย ทั้งนี้ขณะนี้สถาบันวิจัยยาง มีเอกสารพันธุ์ยางแนะนำปี 2550 ฉบับล่าสุด ที่เกษตรกรสามารถเลือกพันธุ์ยางพันธุ์ชั้น 1 ไปปลูกในสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งในพื้นที่แหล่งปลูกเดิม และแหล่งปลูกใหม่ รวมทั้งสามารถขอรับคำแนะนำในการเลือกซื้อพันธุ์ยางที่เหมาะสมต่อการปลูกยางได้ที่สถาบันวิจัยยางทุกแห่ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 27 กรกฎาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=171836