ฟาร์มไฮโดรโพนิกส์ผักไร้ดินเมืองจันท์
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 52
ฟาร์มไฮโดรโพนิกส์ผักไร้ดินเมืองจันท์
หากเอ่ยถึงจังหวัด จันทบุรี คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามไม่ว่าจะเป็น น้ำตก ทะเล และภูเขา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมองไปที่ภาพ เกษตรกรชาวสวน และ ผลไม้นานาพันธุ์ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด อาทิ เงาะ ทุเรียน มังคุด ฯลฯ ซึ่งการทำสวนผลไม้ถือเป็นอาชีพหลัก ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่นี่เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามบนพื้นที่ที่ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ใช่ว่าจะมีเพียงการทำสวนผลไม้เท่านั้น โดยที่ “บางกะจะไฮโดรโพนิกส์ฟาร์ม” เลขที่ 65 หมู่ 4 ต.บางกะจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี ติดกับวัดพลับ วัดโบราณแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองจันท์ มี
การทำฟาร์มผักไฮโดรโพนิกส์ (พืชไร้ดิน) แห่งแรกของที่นี่ ผู้บุกเบิกคือ นายวีระ นามพระจันทร์ หรือที่ชาวจันท์เรียกกันติดปากว่า “ปลัดวีระ”
ที่มาที่ไปการทำฟาร์มผักบนดินแดนที่ได้ชื่อว่าเมืองผลไม้ คุณวีระ เปิดเผยว่า ตนรับราชการมา 25 ปี เป็นปลัดอำเภอมาหลายแห่ง กระทั่งปี 45 เป็นปลัดจังหวัดจันทบุรี ขณะรับราชการได้ช่วยเหลือ ชาวสวนเรื่องปัญหาผลไม้ราคาตกมาโดยตลอด แต่เนื่องจากปัจจัยบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือชาวสวนได้อย่างเต็มที่ กระทั่งจุดเปลี่ยนในชีวิตเกิดขึ้นช่วงปี 47 เออร์ลี่ฯจากงานอยู่บ้านว่าง ๆ เลย ลองปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ กินในครอบครัว ซึ่งไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย แต่ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัด เคยช่วยพ่อแม่ทำสวนมาก่อนจึงพอมีพื้นฐานอยู่บ้าง
นักปกครองที่ผันตัวเองมาเป็นชาวสวน กล่าวต่อว่า คำว่า
Hydroponics มาจากการรวมคำในภาษากรีก คือ Hydro หมายถึง “น้ำ” และ Ponics หมายถึง “งาน” เมื่อนำสองคำมารวมกันจะเป็น “Water Working” หมายถึงการ ทำงานที่มีสารละลายธาตุอาหารผ่านรากพืช โดยไม่ใช้ดิน ซึ่งต้องควบคุมอุณหภูมิของสารละลายธาตุอาหารพืชให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตให้ดี ผักที่ปลูกจึงมีความปลอดภัยสูง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ วิธีทำไม่ได้ยากเย็น ก่อนอื่นจัดหาอุปกรณ์เฉพาะ อาทิ โฟม ถาดรอง โครงเหล็ก (โรงเรือน) ปรับแต่งได้ มุ้งกันแมลง และปั๊มน้ำ เมื่อได้ทุกอย่างแล้ว เริ่มต้นนำฟองน้ำ สำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมารดน้ำให้ชุ่ม หยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปในฟองน้ำไม่ต้องให้ลึกมากนัก รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน หาวัสดุปิด ไม่ให้โดนแสง 3 วัน วันที่ 4 เปิดให้ฟองน้ำโดนแสง ซึ่งเราจะเห็นเมล็ดพันธุ์ที่เพาะไว้งอกขึ้นมาจากหลุม จากนั้นให้น้ำไม่เกิน 2 วันก็สามารถนำไปปลูกต่อในโรงเรือน โดยนำไปใส่ในหลุมโฟมซึ่งมีถาดรองน้ำ ก่อนเปิดระบบปั๊มน้ำวน ผ่านรากตลอดเวลา พร้อมกางมุ้งป้องกันแมลง ทั้งนี้ผักทั่วไปจะใช้เวลาปลูกไม่เกิน 30 วันก็จะได้ผลผลิต
ข้อดีของการปลูกผักวิธีนี้คือสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วม บางพื้นที่ส่งผลให้ผักที่ปลูกกับดินได้รับความเสียหาย ขณะที่ผักไฮโดรโพนิกส์ ไม่ได้รับผลกระทบ ควบคุมปุ๋ยได้ต่างจากระบบปลูกดิน ทำราคาได้ดีกว่าผักทั่ว ๆ ไป และที่สำคัญควบคุมการใช้จ่ายในการผลิตได้ชัดเจน ทั้งนี้ที่ผ่านมามีผู้สนใจ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการการเกษตรฯ นักศึกษา เกษตรกร เดินทางมาดูงานที่ฟาร์มฯ เป็นจำนวนมาก โดยทางฟาร์มฯยินดีให้ความรู้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 กรกฎาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=10378
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า