จากปลานิลพระราชทานสู่ปลานิลแดงทนเค็มสายพันธุ์ผสม
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 52
จากปลานิลพระราชทานสู่ปลานิลแดงทนเค็มสายพันธุ์ผสม
จากลูกปลาน้ำจืดตัวดำ ๆ บ้านเกิดอยู่ที่แอฟริกา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อว่า “
ปลานิล” และพระราชทานให้กรมประมงนำไปเพาะขยายพันธุ์ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ราษฎรและปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ อีกทั้งยังมีการปรับปรุงพันธุ์ และส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยง จนกระทั่งคนส่วนใหญ่นึกว่าปลานิลเป็นปลาของไทยไปแล้ว
ปลานิลถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 50 ตัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 ในระยะแรก พระองค์ทรงเลี้ยงไว้ในบ่อบริเวณพระตำหนักสวนจิตรลดา พบว่า สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ปลาชนิดนี้ให้กรมประมง เพื่อนำไปเพาะขยายพันธุ์ และพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล”
ปัจจุบันปลานิลถือได้ว่าเป็นปลาที่มีผู้เพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว ทั้งยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จนสามารถนำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าเป็นปลาเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากปลานิล ซึ่งที่เรารู้จักว่าเป็นปลาสีดำ ๆ แล้ว กรมประมงยังได้พัฒนาปลานิลสีแดงขึ้นมาจนประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ เป็นปลานิลแดงทนเค็มสายพันธุ์ปทุมธานี
ดร.นวลมณี พงศ์ธนา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำปทุมธานี ผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ เล่าให้ฟังว่า
ปลานิลแดง พันธุ์ดังกล่าวปรับปรุงพันธุ์มาจากปลานิลแดง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลานิลแดงสายพันธุ์ไทย ปลานิลแดงสายพันธุ์ไต้หวัน ปลานิลแดงสายพันธุ์สเตอริง และปลานิลแดงสายพันธุ์มาเลเซีย โดยนำมาผสมข้ามจนได้ลูกพันธุ์ผสม 16 กลุ่ม
จากนั้นนำพันธุ์ผสมดังกล่าวไปคัดพันธุ์เพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตโดย ประเมินจากค่าการผสมพันธุ์ของน้ำหนักปลาอายุ 180 วัน ในน้ำความเค็มระดับ 25-30 ส่วนในพัน จำนวน 2 ชั่วอายุ ระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2551
ปลานิลแดงพันธุ์ดังกล่าวมีลักษณะประจำพันธุ์ ได้แก่ ลำตัวกว้าง สันหนา สีชมพูออกไปทางส้ม มีการเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง มีปริมาณเนื้อแล่สูง และสามารถเลี้ยงได้ทั้งในน้ำจืดและในน้ำเค็มระดับ 25-30 ส่วนในพันจึงเหมาะสมต่อการเลี้ยงในกระชังทั้งในแหล่งน้ำจืดและในเขตน้ำกร่อยและบ่อกุ้ง ซึ่งผลผลิตสามารถใช้ทดแทนปลากะพงแดงได้เนื่องจากเนื้อมีรสชาติดี ไม่มีกลิ่นสาบโคลน จึงน่าจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ขณะนี้ ทางกรมประมงได้กระจายพันธุ์ปลานิลแดงทนเค็มสายพันธุ์ปทุมธานีไปสู่ภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงแล้ว
จึงนับเป็นอีกโครงการในความสำเร็จของกรมประมงที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อการ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 กรกฎาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=11056
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า