เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 52
สองนักวิจัยสาขาการเกษตรจากม.ขอนแก่น - ม.เกษตรฯ ได้รับยกย่องให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปี 52 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ เผยผลงานศึกษาปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงเมล็ดโต เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์หลังแปรรูป และผลงานยืดอายุกล้วยไม้ในแจกัน หนุนอุตฯไม้ตัดดอกส่งออก
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2552 จำนวน 2 คนจากคณะเกษตรศาสตร์คือ ศ.อารันต์ พัฒโนทัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ศ.สายชล เกตุษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 3 คน ได้แก่ ผศ.สุรัตน์ ละภูเขียว สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผศ.ธรรมนูญ ศรีทะวงศ์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และ ผศ.อมรชัย อาภรณ์วิชานพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.อารันต์ พัฒโนทัย ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร ได้วิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ถั่วลิสงมาตลอด 30 ปี โดยเฉพาะพันธุ์ถั่วลิสงชนิดเมล็ดโต ซึ่งมีมูลค่าสูงหลังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งยังวิจัยต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ได้เมล็ดถั่วที่ใหญ่ขึ้น เพิ่มอัตราส่วนของกรดไขมันที่ช่วยลดไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงของโรคความดัน โรคหลอดเลือดและโรคหัวใจให้กับผู้บริโภค
“ทีมวิจัยของเราพัฒนาพันธุ์ถั่วลิสงเมล็ดโตได้เป็นครั้งแรกในไทย โดยการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างถั่วลิสงไทยกับอเมริกา จนได้เป็นพันธุ์ถั่ว มข. 60-3 ซึ่งเผยแพร่ให้เกษตรกรนำ ไปปลูก รวมทั้งเชื่อมโยงการปลูกและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทั้งระดับชุมชนและระดับอุตสาหกรรมให้ทำงานสัมพันธ์กันได้สำเร็จ”ศ.อารันต์ กล่าว
ถั่วลิสงพันธุ์ มข.60-3 ยังมีข้อด้อยคือ อายุการเก็บเกี่ยวค่อนข้างยาวหรือประมาณ 130 วัน ลำต้นกึ่งเลื้อยและฝักสุกแก่ไม่พร้อมกัน จึงได้ศึกษาและพัฒนาได้เป็นรุ่นถัดมาคือ มข. 60 อายุการเก็บเกี่ยวสั้นลงหรือประมาณ 110 วัน ลำต้นไม่เลื้อย และฝักสุกแก่ใกล้เคียงกัน ขณะนี้ได้เผยแพร่สู่เกษตรกรแล้วเช่นกัน
“การจะเป็นนักวิจัยที่ดีประสบความสำเร็จ เราจะต้องมีความมุ่งมั่น ใฝ่รู้ กัดติดกับงานวิจัย โดยไม่เปลี่ยนไปทางนู้นทีทางนี้ที รางวัลที่ได้รับดังกล่าวถือเป็นเกียรติและกำลังใจให้ทีมวิจัย มีแรงที่จะสร้างองค์ความรู้ให้ประเทศชาติต่อไป” นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2552 กล่าว
ศ.สายชล เกตุษา นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาสรีรวิทยาและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวของผลิตผลสดพืชสวน มาตั้งแต่ปี 2524 ครอบคลุมทั้งผัก ผลไม้ และไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อปรับปรุงผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวให้มีคุณภาพดีและมูลค่าสูง
ผลงานที่ถือว่าสร้างมูลค่าการส่งออกให้เศรษฐกิจไทยได้มาก คือการพัฒนาสูตรสารละลายเคมี เพื่อใช้ในการปักแจกันและการบรรจุเปียกดอกกล้วยไม้สกุลหวายเพื่อการส่งออก เมื่อดอกกล้วยไม้ถึงปลายทางดอกไม้ยังอยู่ในสภาพสดและคุณภาพดีกว่าการไม่ใช้สารละลาย
“การศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทราบกลไกการเสื่อมสภาพของผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว และสามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาวิธีป้องกันหรือลดการสูญเสีย จนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพถึงมือผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้ตลาดส่งออกอย่างมีประสิทธิภาพ”ศ.สายชล กล่าวและว่า เทคโนโลยีที่ลดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว และรักษาคุณภาพของผลิตผลสด ให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น มีหลายรูปแบบทั้งการควบคุมอุณหภูมิกับเก็บรักษาให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด ตลอดจนออกแบบบรรจุภัณฑ์และการใช้สารเคมี
ส่วนผลงานของสามนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ดังนี้ ผศ.ธรรมนูญ วิจัยเรื่องการสังเคราะห์และพัฒนาโลหะออกไซด์ ที่มีขนาดผลึกระดับนาโนและมีรูพรุนในช่วงเมโซร์ หรือ 2-50 นาโนเมตร ผศ.อมรชัย ประยุกต์ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ วิเคราะห์ปรับปรุงและออกแบบกระบวนการที่ใช้ในอุตสาหกรรม สุดท้าย ผศ.สุรัตน์ ศึกษาเกี่ยวกับเคมีของสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สามารถแยกองค์ประกอบทางเคมีได้กว่า 80 สาร โดยกว่า 20 สารไม่เคยมีการรายงานโครงสร้างมาก่อน
นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 5 คน จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัล จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 9 ส.ค.นี้ ที่เมืองทองธานี
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 31 กรกฎาคม 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20090730/22487/2%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8