ข้าวนาปรังได้เฮทวีปแอฟริกาเจรจารับซื้อไม่อั้น
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 52
ข้าวนาปรังได้เฮทวีปแอฟริกาเจรจารับซื้อไม่อั้น
ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องการจะเข้ามาลงทุนและหาซื้อที่ดินเพื่อทำการเพาะปลูกข้าวและพืชอาหารของชาวต่างชาติในประเทศไทย หลายฝ่ายแสดงความกังวล พร้อมทั้งเสนอแนะว่า ให้เขาซื้อผลผลิตจากเกษตรกรไทยน่าจะดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่านั่นคือสิ่งที่ดีสำหรับกระบวนการผลิตพืชอาหารของไทย
แต่คำถามก็ยังตามเข้ามาว่าแล้วจะขายอย่างไรให้เกษตรกรไทยในฐานะผู้ผลิตจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจนเกินไปดังเช่นที่ผ่านมา ในที่สุดก็ได้รับคำตอบ นั่นก็คือเกษตรกรผู้ผลิตจะต้องรวมตัวกันแล้วทำการตลาดหรือเป็นคู่เจรจาภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ความคืบหน้าล่าสุดของความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ นายจิตรกร สามประดิษฐ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับการติดต่อจากกระทรวงพาณิชย์ ว่าประเทศแถบทวีปแอฟริกาสนใจซื้อข้าวนึ่งจากสหกรณ์ของไทย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้พิจารณาคัดเลือกสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแกนหลักในการรวบรวมข้าวขาว 5% และข้าวนึ่งจากสหกรณ์ต่าง ๆ รวม 14 สหกรณ์ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างส่งไปจำหน่าย ขณะเดียวกันความพร้อมของสหกรณ์ในจังหวัดสุพรรณบุรีมีศักยภาพในการรวบรวมผล ผลิตข้าว เนื่องจากจังหวัดสุพรรณบุรีมีพื้นที่ปลูกข้าวจำนวนมาก สามารถปลูกข้าวได้ตลอดปีทั้งนาปีและนาปรัง
สำหรับประเภทข้าวที่ตลาดแอฟริกาต้องการจะเป็นข้าวพันธุ์ปทุมธานี พันธุ์ชัยนาท และข้าวนึ่ง ซึ่งเป็นข้าวที่ผลิตมาจากข้าวที่เจอน้ำท่วม หรือข้าวในนาน้ำลึกหรือนาดอน หรือข้าวนาปรัง ที่เอาไปนึ่งโดยผ่านความร้อน ซึ่งข้าวเหล่านี้ในพื้นที่ภาคกลางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีปลูกกันมาก โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ส่งออกข้าวไปประเทศแอฟริกาส่วนใหญ่เป็นประเทศฝรั่งเศส อินเดีย ที่ได้สั่งซื้อข้าวจากประเทศไทย กัมพูชาและเวียดนาม แล้วนำไปขายให้ประเทศในแถบแอฟริกา แต่ในขณะนี้ผู้ซื้อข้าวในประเทศแอฟริกามีความต้องการที่จะเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวสารกับสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวของไทยโดยตรง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้เชิญตัวแทนชุมนุมสหกรณ์ สหกรณ์การเกษตร หรือสหกรณ์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าวมาหารือร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาด้านการส่งออกข้าวโดยกรมฯ จะเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เพื่อให้การส่งออกเป็นไปด้วยดี ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบว่าควรให้สหกรณ์รวมกลุ่มกันจัดตั้งให้เป็นสมาคมโรงสีข้าวสหกรณ์ เพื่อให้ทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายและในช่วงแรกของการส่งออกจะต้องผ่าน คนกลางคือบริษัทผู้ส่งออกข้าวของไทย เนื่องจากว่าสหกรณ์เป็นเพียงผู้ผลิตข้าว ยังไม่มีประสบการณ์ในด้านการค้าและการส่งออกข้าวไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้เอง
“ตลาดแอฟริกาจะเป็นตลาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของข้าวไทย เพราะคนแอฟริกามีประมาณ 1,000 ล้านคน บริโภคข้าววันละ 1 กิโลกรัมต่อคน ซึ่งมากกว่าคนไทยถึง 3 เท่าตัว และในตอนนี้ สหกรณ์มีความพร้อมที่จะรวบรวมข้าวเพื่อส่งออกไปยังแอฟริกา เพื่อขยายช่องทางการตลาดให้เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญการมีส่วนแบ่งในตลาดข้าวสารของประเทศแถบทวีปแอฟริกา จะส่งผลดีมายังเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ที่ผลิตข้าว ที่จะสามารถระบายข้าวที่มีคุณภาพในระดับปานกลาง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกบางแห่งประสบกับปัญหาทางธรรมชาติ เช่น ข้าวที่เจอน้ำท่วมจนเมล็ดข้าวเสียหาย ก็สามารถนำมาผลิตเป็นข้าวนึ่งเพื่อส่งไปจำหน่ายได้ นับเป็นการช่วยเหลือชาวนาที่มักจะเจอกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลากในแต่ละปีได้อีกทางหนึ่ง” นายจิตรกร กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 กรกฎาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=11300
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า