พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลปริมาณสูงในภาคกลาง
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 52
พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลปริมาณสูงในภาคกลาง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทได้ตรวจพบ
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ประกอบกับขณะนี้ได้ พบการระบาดในแปลงของเกษตรกรด้วย ดังนั้นเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางต้องเร่งสำรวจแมลง ที่โคนต้นข้าว หากพบในปริมาณ 10 ตัวต่อกอ (10 ต้น) ควรควบคุมด้วยสารฆ่าแมลงตามคำแนะนำ และ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารกลุ่ม ไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เพราะสารกลุ่มนี้จะทำลายศัตรูธรรมชาติ และจะเป็นผลเร่งให้เกิดการระบาดของศัตรูข้าวอื่นด้วย
หากเกษตรกรสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานของกรมการข้าวใกล้บ้านและที่ศูนย์บริการชาวนาทั้ง 50 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวอยู่ในระยะกล้า โดยเฉพาะข้าวไวต่อช่วงแสงส่วนใหญ่และไม่ไวต่อช่วงแสงบางพันธุ์ ชัยนาท 1 จะเสี่ยงต่อโรคไหม้ระยะกล้า ข้าวที่อยู่ในระยะแตกกอแน่น โดยเฉพาะพิษณุโลก 2 จะเสี่ยงต่อโรคขอบใบแห้งที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หากพบแผลซ้ำเริ่มที่ขอบใบข้าว ควรรีบควบคุม ส่วนข้าวที่อยู่ในระยะใกล้ออกดอกควรระวังโรคเมล็ดด่าง และข้าวบางพันธุ์ เช่น ชัยนาท 1 จะเสี่ยงต่อโรคไหม้คอรวง โดยทั้งสองโรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อรา ควรใช้สารป้องกันกำจัดโรค
ส่วนเกษตรกรภาคเหนือ ถ้าข้าวอยู่ในระยะใกล้ออกดอก ควรระวังโรคเมล็ดด่างและใช้สารป้องกันกำจัดในระยะใกล้ออกดอกนี้ และทางตอนบนของภาค อากาศมีความเสี่ยงต่อโรคไหม้ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว เกษตรกรควรเฝ้าระวัง หากพบแผลรูปตาบนใบควรใช้สารป้องกันกำจัดโรค
สำหรับทางตอนล่างของภาค ข้าวที่อยู่ในระยะแตกกอแน่น โดยเฉพาะพันธุ์พิษณุโลก 2 จะเสี่ยงต่อโรคขอบใบแห้ง และข้าวที่อยู่ในระยะใกล้ออกดอก มีความเสี่ยงต่อโรคเมล็ดด่าง
โรคไหม้ (Rice Blast Disease) เกิดจากเชื้อรา มักพบตั้งแต่ระยะกล้าถึงระยะก่อนเก็บเกี่ยวในช่วงระยะกล้า ใบเกิดแผลเป็นจุดสีน้ำตาลตรงกลางมีสีเทาคล้ายรูปตา แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงต้นกล้าจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้ หากพบในระยะแตกกอจะพบที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น แผลมีขนาดใหญ่กว่าในระยะกล้าใบเป็นแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดออกจากกาบใบ แผลบริเวณข้อต่อจะลุกลามติดต่อถึงกันได้
การแพร่ระบาด มักพบในแปลงที่ต้นข้าวหนาแน่น ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูง และมีสภาพแห้งในตอนกลางวัน และชื้นจัดในตอนกลางคืน และลมแรงจะทำให้โรคแพร่กระจายได้ดี
การป้องกันกำจัด เกษตรกรควรใช้พันธุ์ต้านทานโรค ได้แก่ สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 ชัยนาท 1 ปราจีนบุรี 1 พลายงาม คลองหลวง 1 พิษณุโลก 1 สุรินทร์ 1 เหนียวอุบล เหนียวแพร่ สันป่าตอง 1 หางยี 71 กู้เมืองหลวง ขาวโปร่งไคร้ น้ำรู และดอกพะยอม
การหว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสมคือ 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ ควรแบ่งแปลงให้มีการถ่ายเทอากาศดี ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินไป คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา ตามอัตราที่ระบุ และในแหล่งที่เคยมีโรคระบาด หากพบแผลโรคไหม้ 5% ของพื้นที่ใบควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราตามอัตราที่ระบุ
ย้ำกันอีกที...หากเกษตรกรสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยงานของกรมการข้าวใกล้บ้านและที่ศูนย์บริการชาวนาทั้ง 50 แห่งทั่วประเทศ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 3 สิงหาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=11773
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า