พาณิชย์ปูดเอง 'ข้าวไทย' เปื้อนสารแคดเมียม
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 52
พาณิชย์ปูดเอง 'ข้าวไทย' เปื้อนสารแคดเมียม
กระทรวงพาณิชย์ปูดข่าว ข้าวไทยมีสารแคดเมียมปนเปี้ยน ทั้งในข้าวเหนียว ข้าวหอมและข้าวเปลือก อันทำให้เกิดโรค “อิไตอิไต” จะทำให้ปวดกระดูก และกรวยไตอักเสบ แฉพื้นที่ที่เจอคือแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก โดยพบตั้งแต่ปี 46 “พรทิวา” เตรียมชงเรื่องให้นายกฯทราบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ไข หวั่นจะเกิดผลลบต่อภาพลักษณ์ข้าวไทย ยันข้าวที่ส่งออกนอกประเทศไม่มีแน่นอน
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 3 ส.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ นายธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวเปลือกที่เพาะปลูกในพื้นที่ ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ส่งไปตรวจสอบเพื่อหาสารปนเปื้อน ในบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ไทย) โดยผลตรวจสอบพบว่า มีสารแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ในผลผลิตข้าวถึง 0.48-0.571 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าสูงกว่ามาตรฐานกำหนด ที่จะให้มีการปนเปื้อนไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัม
นายธนพรระบุต่อว่า ถ้าจะนำข้าวมาบริโภคจะเกิดความเสี่ยงต่อโรคอิไตอิไต ทำให้เกิดอาการปวดกระดูก และกรวยไตอักเสบ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และชื่อเสียงของข้าวไทย ทั้งนี้จะมีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการตรวจสอบแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจาก ต.แม่ตาว อ.แม่สอด เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของไทย โดยแต่ละปีมีการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวในพื้นที่กว่า 13,000 ไร่ มีผลผลิตโดยรวมสูงถึง 7,800-14,000 ตันต่อปี อีกทั้งข้าวที่ปลูกใน อ.แม่ตาว ยังเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศข้าวหอมมะลิระดับประเทศ เกรดพรีเมียมเมื่อปี 2545 อีกด้วย
ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์กล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าสาเหตุของสารแคดเมียม ที่ปนเปื้อนมาจากไหน โดยในวงการวิชาการมีการตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประเด็น คือมาจากการทำเหมืองแร่ หรือเป็นสารแคดเมียมที่ขึ้นมาจากใต้ดิน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษ ลงไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความมั่นใจ และหาทางแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะปัญหาสารปนเปื้อน ใน ต.แม่ตาว ได้เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ปี 46 แต่ได้ถูกซุกไว้ใต้พรม ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว เคยแก้ปัญหาด้วยการให้ปลูกอ้อยแทน แต่ถึงตอนนี้เรื่องเงียบไป ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่กลับมาปลูกข้าวแทนเหมือนเดิม
นายธนพรเปิดเผยต่อว่า เราจะนำผลตัวอย่างการตรวจสอบเสนอให้ รมว.พาณิชย์ เพื่อรายงานให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) รับทราบและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งเข้ามาแก้ปัญหา เพราะไม่เช่นนั้นคนไทยจะมีความเสี่ยงต่อการบริโภคข้าวที่มีสารปนเปื้อน และทำให้ไม่เกิดความเชื่อมั่นต่อข้าวไทย
ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ระบุอีกว่า นอกจากนี้จะเตรียมเสนอให้มีการตรวจสต๊อกข้าวของรัฐ ที่รับจำนำข้าวในพื้นที่แม่ตาวด้วย เพราะคาดว่าอาจมีข้าวที่ปนเปื้อนแคดเมียมเข้าไปในโครงการรับจำนำ หากตรวจพบจะต้องมีการทำลายข้าวดังกล่าวทิ้งให้หมด ส่วนกรณีที่สมาคมโรงสีข้าวไทย ได้ยื่นหนังสือถึง รมว.พาณิชย์ เพื่อขอให้มีการสั่งให้มีการสีแปรสภาพข้าวเปลือก ในโครงการรับจำนำนาปรังนั้น กระทรวงฯแจ้งว่ายังคงต้องชะลอการสีไว้ก่อน เพราะกระทรวงพาณิชย์ ต้องทำหน้าที่ตามมติ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่กำหนดยุทธศาสตร์ให้มีการระบายข้าวเป็นข้าวเปลือกด้วย เพื่อให้ผู้ส่งออกนำไปผลิตเป็นข้าวนึ่ง เพราะตอนนี้ราคาส่งออกข้าวนึ่ง ได้ราคาดีสูงกว่าข้าวปกติถึงกระสอบละ 200-300 บาท แต่สิ่งที่กระทรวงกังวลว่า ขณะนี้โรงสีมีการสั่งสีแปรล่วงหน้า หรือมีการนำข้าวเปลือกไปขายก่อนหรือไม่ ซึ่งจะเร่งตรวจสต๊อกข้าวเพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป
ด้านนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า จะนำผลการตรวจสอบข้าวจากพื้นที่แม่ตาว เสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อนำไปบูรณาการแก้ไขกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยที่ต้องเปิดเผยข้อมูลนี้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และต้องการให้เกิดการแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อภาพลักษณ์ข้าวของไทยได้ แต่ขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีการตรวจพบเจอในการส่งออก และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำให้ราคาข้าวในตลาดผันผวนแต่อย่างใด.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 สิงหาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=310&contentID=12074
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า