เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 52
นายบัณฑิต ตันศิริ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องเกษตรอินทรีย์ว่า ตามที่กรมพัฒนาที่ดินได้ทำโครงการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร/เกษตรอินทรีย์ ในปี 2552 พื้นที่เป้าหมาย 17 ล้านไร่ ขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้ว 15.89 ล้านไร่ คิดเป็น 93.52% โดยกรมฯ ได้เข้าไปปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรลดการใช้สารเคมี หรือถึงขั้นเกษตรอินทรีย์ โดยการจัดตั้งกลุ่มอบรม สาธิตวิธีการผลิตและการใช้สารอินทรีย์ทดแทนรวมทั้งสิ้น 17,284 กลุ่ม อบรมเกษตรกรจำนวน 840,663 ราย
นอกจากนี้ ยังได้ทำโครงการเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน โดยมุ่งเน้นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและโรงเรียนที่มีความพร้อม นักเรียนและครูมีความสนใจที่จะทำการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อใช้ในโครงการอาหารกลางวันใน โรงเรียน โดยขณะนี้ดำเนินการแล้ว 336 โรงเรียน
"ต้องยอมรับว่าการจะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์แบบ 100% ทั้งประเทศทำได้ยาก เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์มีไม่เพียงพอ จากจากการสำรวจพบว่าวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตปุ๋ยหมัก 1 ล้านตัน สามารถใช้ได้กับพื้นที่เกษตร 1 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้เรามีวัตถุดิบอยู่ประมาณ 2 ล้านตันเท่านั้น จึงไม่เพียงพอต่อพื้นที่เกษตรที่มีอยู่ 130 กว่าล้านไร่ ที่สำคัญพืชบางชนิดยังต้องการธาตุอาหารที่อยู่ในปุ๋ยเคมี ดังนั้นกรมพัฒนาที่ดินยืนยันว่าเราไม่ได้ต่อต้านการใช้ปุ๋ยเคมี แต่จะส่งเสริมให้ใช้ควบคู่กับสารอินทรีย์ควบคู่กันไป โดยลดสัดส่วนปุ๋ยเคมีลงครึ่งหนึ่งจากที่เคยใช้ในปัจจุบัน" อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาที่ดินมีโปรแกรมดินไทยและธาตุอาหารพืช และโปรแกรมคำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยรายแปลง ที่สามารถวิเคราะห์ปุ๋ยในพื้นที่ของเกษตรกรทุกรายได้ว่ามีธาตุอาหารในดิน เท่าไร ถ้าปลูกพืชชนิดไหนต้องใส่ปุ๋ยเคมีปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 5 สิงหาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=173092