ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ พัฒนาพันธุ์พืชเพื่อเกษตรกรไทย
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 52
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ พัฒนาพันธุ์พืชเพื่อเกษตรกรไทย
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ บนผืนดิน 135 ไร่ 1 งาน 10.3 ตารางวา หลักกิโลเมตรที่ 885 ริมถนนพหลโยธิน ที่บ้านน้ำจำ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมกันดำเนินการจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ พร้อมวัตถุประสงค์ช่วยปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชให้เกษตรกรมีพืชที่มีสายพันธุ์ดีและได้ผลผลิตที่ดี
การนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 พร้อมทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เกี่ยวกับด้านเกษตรกรรม ทั้งทรงรถแทรกเตอร์ฟาร์มขนาดเล็ก ทำปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน โดยไถกลบต้นปอเทือง พืชตระกูลถั่วที่มีธาตุอาหารสะสมในดอกสูง ทอดพระเนตรแปลงพืชผักต่าง ๆ รวมถึงอ่างเก็บน้ำที่นำมาใช้ในพื้นที่การเกษตร ทั้งหมด 3 อ่างซึ่งกักเก็บน้ำจากเทือกเขานางนอน หากปริมาณน้ำไม่พอจะมีการสำรองน้ำจากหนองน้ำพุโดยใช้พลังงานไฟฟ้ามาใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น
ความสำคัญของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืช จักรพันธ์เพ็ญศิริ ปรากฏในสูจิบัตรของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืช จักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งเผยแพร่พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2552 ความสำคัญว่า “...ปีนี้เป็นปีที่ครบ 100 ปี พระองค์ เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ...พันธุ์พืชเป็นเรื่องที่ท่านสนพระทัยมาก รับสั่งถึงพันธุ์พืชที่เราปลูกแล้ว สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์จากแปลงมาปลูกซ้ำได้อีก คุณสมบัติจากแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ จะเลือกได้ตามความประสงค์ ได้ทดลองพืชไร่ต่าง ๆ โดยเฉพาะ พันธุ์แตง...เมื่อก่อนท่านมาอยู่ด้วยที่อาคารชัยพัฒนา รับสั่งเรื่องพันธุ์พืชตลอดเวลา”
เมื่ออ่านโดยละเอียดถี่ถ้วน สูจิบัตรดังกล่าว ยังบ่งบอกถึงบทบาทสำคัญของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ที่ทรงมีต่อการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชไว้บางบทบางตอนว่า ประมาณพุทธศักราช 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งกับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ให้ศึกษาทดลองทำพันธุ์ข้าวโพดหวาน แคนตาลูปและแตงโมไม่มีเมล็ด ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า พันธุ์พืชเหล่านี้คนไทยน่าจะทำเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพานำเข้าจากต่างประเทศ
การศึกษาทดลองเริ่มครั้งแรก ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างข้าวโพดหวานพันธุ์ “ฉัตรทอง” ต่อมาได้ทำพันธุ์แตงโมและแคนตาลูป ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้พันธุ์แตงโม 2 พันธุ์ คือ แตงโมเนื้อเหลือง พันธุ์ห้วยทรายทอง F 1 และแตงโมเนื้อสีชมพู พันธุ์ชมพูห้วยทราย F 1 และมะเขือเทศพันธุ์ “สีดาห้วยทราย” แต่หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ไม่ทันได้ทอดพระเนตรเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศสีดาห้วยทรายและเมล็ดพันธุ์แตงโมเนื้อเหลือง พันธุ์ห้วยทรายทอง F1 ซึ่งปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ได้สำเร็จพอดี ทรงถึงแก่ชีพิตักษัยโดยไม่ทันที่จะเผยแพร่และพระราชทานสู่เกษตร แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ทรงมีชีวิตอยู่นั้น มักจะรับสั่งกับผู้ปฏิบัติงานอยู่เสมอว่า “พันธุ์พืชทุกพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ทุกเมล็ด เป็นของพระเจ้าอยู่หัวนะ ทำให้ดีที่สุด”
ในวันนี้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริแห่งนี้ วางเข็มทิศวางแผนพัฒนาพันธุ์พืชอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์พืชที่ดี แม้ไม่ใช่พันธุ์ที่ดีที่สุดในเชิงเศรษฐกิจ แต่จะเป็นพันธุ์ที่ดีพอสมควร สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพให้กับครัวเรือน สร้างความแข็งแรงมั่นคงให้เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืนทีเดียว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 สิงหาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=12630
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า