น้อมนำพระราชดำริขยายผลพัฒนาในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 52
น้อมนำพระราชดำริขยายผลพัฒนาในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริกับคณะกรรมการ การบริหารโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2536 ความว่า “แม้ว่าประตูน้ำอันเดียวนี้จะไม่แก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่จะต้องสร้างหรือทำโครงการต่อเนื่อง...แต่ถ้าหากว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการ แก้ปัญหาทั้งหลาย ซึ่งแต่ก่อนนี้การแก้ไขปัญหาต่างคนต่างทำต่างฝ่ายต่างทำ จุดเริ่มไม่มี ตอนนี้ถ้าสร้างประตูน้ำเสร็จ...จากอันนี้จะทำอะไร ๆ ได้ทุกอย่างและแยกออกมาเป็นโครงการ”
จากพระราชดำริดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการโดยมีสำนักงานคณะ กรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงาน ดำเนินการพัฒนาระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่ 521,000 ไร่ แบ่งเขตน้ำจืด-น้ำเค็ม โดยคันแบ่งเขตระยะทาง 91.50 กิโลเมตร บรรเทาน้ำท่วม ป้องกันน้ำเค็ม และเก็บกักน้ำจืดเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมทั้งพัฒนาส่งเสริมอาชีพประชาชน และติดตามสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง
เช่นพื้นที่บริเวณตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง ประมาณ 4,000 ไร่ ราษฎรบางส่วนประกอบอาชีพจากป่า และได้รับผลกระทบจากแนวคันเขตตัดผ่านทำให้รายได้ลดลง ทางกรมชลประทานจึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารอัดน้ำสำหรับให้เรือสามารถ สัญจรผ่านไปมาขนาดกว้าง 2.70 เมตร สูง 1.70 เมตร ความยาว 8.00 เมตร จำนวน 3 แห่ง พร้อมกับการก่อสร้างอาคารท่อลอดถนนอัดน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00 เมตร ความยาว 14.00 เมตร ถึง 16.00 เมตร จำนวนรวม 14 แห่ง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้าท่วมพื้นที่ป่าจากในช่วงที่น้ำเค็มจัดและ ระบายน้ำในพื้นที่ป่าจากช่วงฤดูน้ำหลาก และดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราษฎรสามารถดำรงชีพได้ดังเดิม
นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการ กปร. เปิดเผยว่า หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งระบบ จะสามารถแก้ปัญหาน้ำเค็มท่วมขังพื้นที่ป่าจากในเขตตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง ได้ประมาณ 2,000 ไร่ ราษฎรประมาณ 530 ครัวเรือน มีรายได้จากป่าจากเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ พร้อมกันนี้ ทางกรมป่าไม้ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาป่าไม้และระบบนิเวศป่าพรุโครงการพัฒนา ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ซึ่งขณะนี้การดำเนินการเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วยประสานควบคุมไฟป่าการบริหารจัดการโดยประชาชนมีส่วนร่วม การพัฒนาอาชีพด้านป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ และการปลูกพันธุ์ไม้เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ
“โดยภาพรวมจะทำให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ลุ่มน้ำปากพนัง เนื้อที่ 54,221 ไร่ เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดยมีอาสาสมัครป้องกันไฟป่าพรุและองค์กรหมู่บ้านรักษ์ป่าพรุ จำนวน 10 หมู่บ้านในเขตอำเภอชะอวด และอำเภอเชียรใหญ่ เป็นเครือข่ายในการบริหารจัดการ พร้อมทั้งทำให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ เกิดจิตสำนึกหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ และเกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์ป่าพรุ” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว
เลขาธิการ กปร. เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการก่อสร้างฝายชะลอการไหลของน้ำในพื้นที่ป่าพรุ จำนวน 250 ฝาย ขณะนี้ ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถบรรเทาความรุนแรงของปัญหาระบบนิเวศป่าพรุในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าช้างข้าม ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองค็อง ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุมแป บ้านในลุ่มและป่าควนเคร็ง และป่าสงวนแห่งชาติดอนทรายและป่ากลอง เนื้อที่รวม 78,310 ไร่ และเป็นการพัฒนาที่ส่งผลทางบวกต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนกว่า 20 หมู่บ้านอีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 สิงหาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=12635
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า